เปิดมุมมอง “ปกรณ์ นิลประพันธ์” กับเรื่อง “ประเทศไทยที่มีการแข่งขัน : การเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน”

กดติดตาม TOP NEWS

เปิดมุมมอง "ปกรณ์ นิลประพันธ์" กับเรื่อง “ประเทศไทยที่มีการแข่งขัน : การเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน”

TOP News คำกล่าวเปิดงานประชุม OCS International Symposium “Competitive Thailand, Growing Sustainably Together”

วันพฤหัสบดี ที่ 19 กันยายน 2567  โดย “ปกรณ์ นิลประพันธ์

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในนามของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผมขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมสัมมนานานาชาติของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในหัวข้อ “ประเทศไทยที่มีการแข่งขัน : การเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน” ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายและจำเป็นต่ออนาคตของประเทศเรา

ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งโอกาส นวัตกรรม และความยืดหยุ่น ที่ผ่านมา การแข่งขันเป็นมือที่มองไม่เห็นแต่เป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้เราก้าวหน้าในทุกด้าน ตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงเทคโนโลยี การท่องเที่ยวไปจนถึงการผลิต อย่างไรก็ตาม ในภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การแข่งขันไม่ใช่เพียงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ธุรกิจสามารถเติบโตได้ นวัตกรรมได้รับการสนับสนุน และแรงงานมีทักษะและความสามารถในการปรับตัว

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ การแข่งขันต้องควบคู่ไปกับความยั่งยืน เราไม่สามารถเติบโตได้โดยเอาสิ่งแวดล้อมหรือคนรุ่นหลังของเราเข้าแลกเหมือนที่เคยทำมาในอดีตได้อีกต่อไป การเติบโตอย่างยั่งยืนหมายถึงการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ หมายถึงการพัฒนาเมืองที่ไม่เพียงแต่มีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและน่าอยู่
ในด้านกฎหมาย เพื่อบรรลุถึงวิสัยทัศน์นี้ เราจำเป็นต้องมีการพัฒนากฎหมายอย่างครอบคลุม กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของเราต้องตอบสนองความท้าทายใหม่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น geopolitics, climate change, disruptive technology, aged society รวมทั้งพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เป็น individualism มากขึ้น กฎหมายยุคใหม่ต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างกรอบการกำกับดูแลที่โปร่งใส รับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพ ส่งเสริม สนับสนุน และเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ และรับรองการแข่งขันที่เป็นธรรม และที่สำคัญ ต้องให้ความสำคัญแก่ความยั่งยืนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนรุ่นนี้ และรุ่นต่อ ๆ ไปมีความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน เพราะความผาสุกของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด solus pouli suprema lex esto ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับ good regulatory practices (GRP) ที่ยอมรับกันเป็นสากล ตามหลัก GRP ต้องมีการประเมินผลกระทบก่อนการตรากฎระเบียบ (RIA) อย่างรอบคอบ มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กลไกของกฎหมายและระเบียบต้องชัดเจนและคาดการณ์ได้ เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่มั่นคงสำหรับธุรกิจและปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยวิธีการที่เปิดเผยและเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นรากฐานสำคัญของ GRP ทำให้ประชาชน ธุรกิจ และภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับดูแลที่ช่วยให้มั่นใจว่ามุมมองที่หลากหลายได้รับการพิจารณา และกฎระเบียบได้รับข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างดีและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สามารถสร้างความไว้วางใจและมั่นใจว่านโยบาย และกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ นั้นสะท้อนถึงความต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ จะไม่สามารถอ้างความต้องการของประชาชนลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์อีกต่อไป และนี่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน แบ่งปันความรู้และทรัพยากร และสนับสนุนซึ่งกันและกัน และด้วยความร่วมมือกันอย่างจริงจังนี้ เราสามารถสร้างประเทศไทยที่มีการแข่งขันอย่างยั่งยืนและครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้เป็นการทำให้กฎหมาย ระเบียบมีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่มีพลวัตรอยู่ตลอดเวลา และการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายนี่เอง จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และสร้างความยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย อันจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือ better regulation for better life ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
หัวใจของเรื่องที่ละเลยเสียมิได้ นอกจากคุณภาพของกฎหมายซึ่งอาจนอกเหนือไปจากหัวข้อการสัมมนาในวันนี้อยู่บ้าง นั่นก็คือประชาชนของเรา เราต้องลงทุนในการสร้างความเข้มแข็งและอบอุ่นแก่ครอบครัว พัฒนาการศึกษา การดูแลสุขภาพ และบริการสังคมเพื่อให้แน่ใจว่าคนไทยทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันและยั่งยืนอย่างแท้จริง คือประเทศที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่การดูแลสุขภาพมีราคาย่อมเยาและเข้าถึงได้ และที่บริการสังคมสนับสนุนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี เส้นทางที่จะก้าวไปสู่ประเทศไทยที่มีความสามารถในการแข่งขันและยั่งยืน แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้ด้วยการพัฒนากฎหมายอย่างครอบคลุมตามหลัก Good Regulatory Practice การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย การวิเคราะห์ผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งก่อนและหลังการตรากฎหมายหรือออกกฎ ความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนและการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนของเรา เราสามารถสร้างอนาคตที่ประเทศไทย ไม่เพียงแต่ความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก แต่ยังสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน ผมไม่คิดว่าเราสามารถทำสิ่งนี้ได้โดยลำพังเพียงประเทศเดียว แต่ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับนานาประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมของทุกประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเดียวกับเรา ที่จะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนานานาชาติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นในประเทศไทยต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น