งานสัมมนาและนิทรรศการระดับนานาชาติ “60 Years of Excellence: Creating Great Leaders, Designing the Future” ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ระหว่างวันที่ 16 – 19 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นเวทีที่รวมผู้นำองค์กรชั้นนำ นักธุรกิจรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการที่สนใจจากหลากหลายสาขามาร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ รวมถึงเพื่อรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อธุรกิจ โดยความยั่งยืนเป็นหนึ่งในประเด็นที่ TMA ให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่าการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต เมื่อธุรกิจและโลกต้องสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานคือการเสวนาในหัวข้อ “Future Sustainability Leaders Views: The Way Forward” ที่มีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นำโดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ และประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมกับ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ คุณนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ ศรีเลิศฟ้า รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกลยุทธ์และความยั่งยืน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ จากซีพี ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนความยั่งยืนในภาคธุรกิจ โดยชี้ให้เห็นว่าโลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและภาคธุรกิจต้องตระหนักว่าการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไม่เพียงแค่ทำกำไร แต่ต้องมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม “ในวันนี้ การทำธุรกิจและความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องเดียวกันที่แยกกันไม่ออก ความยั่งยืนต้องอยู่ในทุกกระบวนการของการดำเนินงานตั้งแต่การใช้ทรัพยากรไปจนถึงการผลิตและส่งผลกระทบต่อสังคม” ดร.ธีระพล กล่าว พร้อมเน้นย้ำบทบาทของผู้นำในการขับเคลื่อนแนวทางนี้ภายใต้แนวคิด “Tone at the Top” ที่นำโดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความยั่งยืนในทุกระดับขององค์กร
เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืน ดร.ธีระพล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หมายถึง การที่ทุกการกระทำที่เราทำในระดับเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากร การบริโภค หรือการผลิต ล้วนสามารถส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสังคมโลกในระยะยาว ในบริบทของการสร้างความยั่งยืน ทุก ๆ การเลือกในการบริโภคหรือการผลิต เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล การลดขยะ หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน เปรียบเสมือน “เด็ดดอกไม้” ซึ่งอาจดูเป็นการกระทำเล็กน้อย แต่หากทำอย่างต่อเนื่องและรวมพลังกันทั้งโลก ผลที่เกิดขึ้นก็อาจ “สะเทือนถึงดวงดาว” หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สามารถสร้างโลกที่ยั่งยืนขึ้นได้
ด้าน คุณนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยเน้นว่าการสร้างองค์กรที่ยั่งยืนนั้นไม่เพียงแค่สร้างผลกำไร แต่ต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในระยะยาวด้วย “เราต้องสร้างองค์กรที่มีความสมดุลทั้งในด้านผลกำไรและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยใช้หลักการสำคัญ 3 ประการ คือ หัวใจ (Heart) ที่หมายถึงการทำงานด้วยความมุ่งมั่น หัวคิด (Head) ที่ต้องมีทัศนคติที่ดีและทักษะที่เหมาะสม และ ความกล้า (Guts) ที่พร้อมจะปรับตัวและเผชิญกับความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” คุณนพเดชกล่าว และยังกล่าวต่อไปว่า การสร้างความยั่งยืนต้องอาศัยการประสานงานและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในระดับองค์กรหรือระดับประเทศ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาและจัดการกับปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน
ส่วน ดร.ชญาน์ จันทวสุ จากพีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้กล่าวถึงประเด็นความยั่งยืนในมุมมองของภาคธุรกิจที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อจัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม พร้อมชี้ว่า “ความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถเลื่อนออกไปได้อีกแล้ว ทุกภาคส่วนต้องเริ่มดำเนินการทันที และควรมองให้เป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” ดร.ชญาน์กล่าว
ในประเด็นเดียวกันนี้ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ไทย พร้อมเปิดโอกาสความร่วมมือใหม่กับทุกภาคส่วนของห่วงโซ่อุปทาน และมองว่าโอกาสในการพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยคือ การที่เราจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำได้อย่างไร การนำ R&D มาใช้พัฒนาระบบเกษตรของไทยให้ปรับตัวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงทำอย่างไรจึงจะดึงเกษตรกรที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังให้เข้ามาอยู่ในระบบนี้ได้
งานสัมมนาครั้งนี้เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของผู้นำและผู้บริหารในประเทศ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันความรู้จากผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยสู่มาตรฐานสากล