“บ้านน้ำเชี่ยว” ตั้งอยู่ในตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นหมู่บ้านในเส้นทางผ่านไปท่าเรือเกาะช้าง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดทะเล มีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก และมีคลองขนาดใหญ่ไหลผ่าน ซึ่งคลองนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่เขาวังปลา ที่อยู่ระหว่างอำเภอแหลมงอบ และ อำเภอเมืองตราด เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในคลองจะไหลเชี่ยวมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “คลองน้ำเชี่ยว” จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน “บ้านน้ำเชี่ยว”
“บ้านน้ำเชี่ยว” เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 200 ปี เดิมที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยพื้นที่ และ ชาวจีน ที่ล่องเรือสำเภามาค้าขาย ก่อนลงหลักปักฐานอยู่อาศัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมุสลิม ที่เรียกตัวเองว่า “แขกจาม หรือ จำปา” ได้อพยพหนีภัยสงครามจากกัมพูชา มาตั้งรกรากอาศัยอยู่เพิ่มเติม ทำให้บ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชน “ 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม” คือ ศาสนาพุทธ-อิสลาม และ วัฒนธรรม ไทย-จีน-มุสลิม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขมาช้านาน จนกลายเป็นอัตลักษณ์อันทรงเสน่ห์ ของชุมชนแห่งนี้ ที่สามารถผสมผสานความหลากวิถี ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างกลมกลืน
จากการที่บ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนริมน้ำ ซึ่งมีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยชาวบ้าน จะออกเรือไปจับ กุ้ง หอย ปู ปลา นำมาจำหน่าย และ มีการแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น กะปิ กุ้งแห้ง ปลาอินทรีย์เค็ม ปลาโคกแดดเดียว ปลาหมึกแห้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียง ยังมีการทำการเกษตรอีกด้วย ได้แก่ การปลูกยางพารา การปลูกสับปะรด และ การทำสวนผลไม้
ด้วยความโดดเด่น ที่มีวัฒนธรรม 2 ศาสนาอยู่ร่วมกัน และ มีวิถีชีวิตที่อิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ในคลองน้ำเชี่ยว ป่าชายเลน และ ทะเลอ่าวไทย ทำให้พื้นที่บ้านน้ำเชี่ยว ริเริ่มทำการท่องเที่ยว แบบโฮมสเตย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา และ ได้จดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านนํ้าเชี่ยว” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 และ ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมี นางรสริน วิรัญโท เป็นประธานวิสาหกิจชุมชน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว บ้านนํ้าเชี่ยว มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย
“วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว” ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด และ ส่งผลงานเข้าประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับเขต และ ระดับประเทศ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2561 ซึ่งนับเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จและ เป็นแรงผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว มีการดำเนินกิจกรรมและการพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
“วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านนํ้าเชี่ยว” นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนชั้นนำของไทยแล้ว ที่นี่ ยังให้ความสำคัญกับการลดปริมาณคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถคว้า “รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” (Thailand Tourism Awards) หรือ “รางวัลกินรี” ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในประเภท “แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน” ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี
นางรสริน วิรัญโท ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านนํ้าเชี่ยว กล่าวว่า การทำกิจกรรมท่องเที่ยว โดยชุมชน ได้ช่วยพลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่บ้านน้ำเชี่ยวให้ดีขึ้น จากเดิม ที่น้ำในคลอง น้ำเชี่ยวเริ่มเน่าเหม็น ส่งกลิ่นรบกวน เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มมาเยือน ชาวบ้านได้ช่วยกันแก้ไขฟื้นฟู จนน้ำในลำคลองกลับมาใสสะอาดดังเดิม สัตว์น้ำในคลองที่เคยหายไปเพราะน้ำเน่าก็เริ่มกลับมา ชาวประมงก็หาปลา และ จับสัตว์น้ำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องออกทะเลไปไกลเหมือนช่วงที่น้ำในคลองเน่าเหม็น และ มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อรักษาป่าชายเลน จากการลักลอบตัดไม้ ส่วนชาวบ้านที่ เคยลักลอบตัดไม้ในป่าชายเลน ก็หันกลับมาร่วมมือ กับ กลุ่มอนุรักษ์ด้วย จนป่าชายเลนที่บ้านน้ำเชี่ยว ได้ชื่อว่า เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อาทิ จากการขับเรือนำเที่ยว การเป็นนักเล่าเรื่อง การทำบ้านพักโฮมสเตย์ การทำอาหารและเครื่องดื่ม การสาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้าน และ ศิลปะวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ของฝาก และ ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้าน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ เกิดความรักความหวงแหนในชุมชนบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น ในการทำ การท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านน้ำเชี่ยว เราเข้าใจ และ ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และมีการปรับตัว ให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ และ เรื่องราวของชุมชนที่จะสื่อสารออกไปสู่นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย
นายวินัย ขยันยิ่ง เกษตรจังหวัดตราด เผยว่า “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว” เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีการดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี และ สามารถเป็นต้นแบบให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่น มาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดตราด ได้บูรณาการ การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานตราด องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตราด อุตสาหกรรมจังหวัดตราด สาธารณสุขจังหวัดตราด วิทยาลัยชุมชนตราด สภาเกษตรกรจังหวัดตราด เป็นต้น โดยดำเนินการส่งเสริม และ พัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการ และ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาศักยภาพ และ ปรับปรุงภูมิทัศน์ของพื้นที่ ให้มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว การสร้างมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวของวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจน การประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวของวิสาหกิจชุมชน ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น