เดอะ สตาร์ สื่อมาเลเซีย รายงานว่า ทุเรียนมูซังคิง มีความโดดเด่นเรื่องของรสชาติหวาน ติดขมปลายลิ้น แต่ข้อมูลจากคนในแวดวงอุตสาหกรรมพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ชาวสวนทุเรียนบางส่วนในมาเลเซีย พยายามปรับรสชาติให้หวานขึ้น ขมน้อยลง เพื่อให้ถูกปากผู้บริโภคในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก
ลี พิต เคียง ประธานสมาคมการท่องเที่ยวและเกษตรกรรมรัฐปะหัง กล่าวว่า สำหรับคนที่ลองชิมทุเรียนมูซังคิงในจีนและไต้หวันครั้งแรก บ่อยครั้งจะรู้สึกว่ามันขมกว่าที่เคยกิน บางทีเข้าใจผิดว่าผลไม้เสียแล้ว
ด้าน ลอว์เรนซ์ ถิง ประธานสหพันธ์เกษตรกรผลไม้มาเลเซีย อธิบายว่า ทุเรียนมาเลเซียแตกต่างจากทุเรียนหมอนทองของไทย ที่มีรสหวาน ซึ่งเป็นเพราะดินและสภาพอากาศแตกต่างกัน ส่วนในมาเลเซีย เกษตรกร ยกระดับรสชาติและคุณภาพได้ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์
ในมาเลเซีย ต้นทุเรียนมูซังคิง แบ่งตามอายุ ต้นแก่ 20 ปีขึ้นไป กับไม่ถึง 20 ปี ยิ่งต้นแก่ รสชาติจะยิ่งติดขม
สตีเฟน โจว เจ้าของสวนทุเรียนที่มีประสบการณ์ปลูกกว่า 30 ปี กล่าวว่า ทุกวันนี้ ผู้ส่งออกพยายามปรับผลิตผลให้เหมาะกับความชื่นชอบของตลาดต่างประเทศแต่ละแห่ง หากเป็นตลาดที่ชอบทุเรียนรสชาติหวาน ก็จะคัดทุเรียนที่หวานกว่าปกติส่งออกไปตลาดนั้น ชาวสวนรู้ดีว่าต้นไหนอายุไม่ถึง 20 ปี ต้นไหนเกิน 20 ปี การเปลี่ยนรสชาติทุเรียนยังขึ้นอยู่กับว่า ใช่ปุ๋ยอินทรีย์พอหรือไม่ด้วย อย่างไรก็ดี ทุเรียนส่งออกที่ตรงกับความต้องการตลาดจีน อยู่ที่คุณภาพเนื้อทุเรียน ยังไม่เคยได้รับการร้องขอเรื่องให้ลดความขม
ความพยายามปรับแต่งรสชาติ ถูกท้วงติงจากหลายฝ่าย ที่มองว่า การทำเช่นนั้น จะให้ทุเรียนมูซังคิง สูญเสียเอกลักษณ์ แอนนา เตียว เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตทุเรียน กล่าวว่า ทุเรียนมูซังคิงทุกวันนี้ รสชาติไม่เหมือนแต่ก่อน สีและกลิ่นเจือจางลง แม้ว่าการปรับรสชาติทุเรียนทำได้ด้วยการใส่ปุ๋ย แต่ควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพผลไม้ ไม่ใช่แค่เรื่องความหวาน เธอกล่าวด้วยว่า ต่อให้เทคนิคและวิธีการปลูก พัฒนาไปอย่างไร เกษตรกรไม่ควรปรับรสชาติของทุเรียน
ด้าน ดร. ซุลคัซมี ซายูติ จากศูนย์วิจัยเกษตรกรรมพืชสวนและสถาบันการพัฒนามาเลเซีย กล่าวว่า การปรับแต่งพันธุกรรมทุเรียนเพื่อลดขม เป็นเรื่องซับซ้อน แต่ก็สามารถทำได้ ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้เคยมีให้เห็นกับพืชผลชนิดอื่น ๆ มาแล้ว แต่การระบุยีนเฉพาะ โดยไม่ทำให้คุณลักษณะอื่นๆของผลไม้เปลี่ยนแปลงไป เป็นงานที่ท้าทาย
สารประกอบอย่าง ซาโปนิน ให้รสชาติขมในทุเรียน การจัดการยีนที่เกี่ยวข้องกับสารตัวนี้ อาจลดขมลงได้ แต่การปรับแต่งทางพันธุกรรม และการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพใด ๆ ก็ตาม ต้องคำนึงถึงกฎระเบียบและจริยธรรม อีกทั้งจะต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้นก่อน สำหรับมาเลเซีย มีนโยบายการปรับแต่งทางพันธุกรรมอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีภาพ
มาเลเซียเริ่มส่งออกทุเรียนสดทั้งลูกไปจีนได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากเดิมส่งออกได้เฉพาะทุเรียนแช่แข็ง ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกผลไม้รายได้ดีกันมากขึ้น อับดุล ราชิด บาห์รี ผู้ว่าองค์การตลาดเกษตรกรรมมาเลเซีย ย้ำว่า ทุเรียนมูซังคิง มุ่งเจาะตลาดบนในประเทศจีน
9327RW ไฟล์ภาพสวนทุเรียนในมาเลเซีย