สพฐ. หนุนเยาวชนแกนนำ OBEC Youth Camp สร้างต้นกล้าความดี เป็นคนคุณภาพสู่สังคม

กดติดตาม TOP NEWS

วันที่ 21 กันยายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนักเรียนที่เข้าร่วมค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ สพฐ. : OBEC Youth Camp จุดพัฒนาที่ 4 : สพม.เชียงใหม่ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2567 มีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 81 คน จาก 9 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาเป็นเยาวชนแกนนำ โดย รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมคณะฯ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจัดเป็นวันที่ 3 พร้อมทั้งชื่นชม ให้กำลังใจ นักเรียนที่เข้าร่วมในค่าย คณะวิทยากร และคณะทำงานจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้เข้าตรวจเยี่ยมค่ายและพบปะกับนักเรียน เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่านักเรียนแสดงให้เห็นถึงความสุขที่เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของท่าน รมว.ศธ. ทั้งนี้ค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ : OBEC Youth Camp เกิดจากความห่วงใยกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่กำลังจะพ้นจากรั้วโรงเรียน ควรจะต้องถูกเติมเต็มให้เข้มแข็ง ผู้ใหญ่หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. และ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. รวมถึงคณะของ สวก. สบว. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กิจกรรมเด็กไทยใฝ่ดีของหน่วยแพทย์พระราชทาน มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงมาร่วมกันเติมเต็มสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดกับนักเรียน เพราะอนาคตของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องมีกิจกรรม TCAS เข้ามาเกี่ยวข้อง และสิ่งที่ตรงกับวัยของนักเรียนคือเรื่องการตัดต่อคลิปวิดีโอ เพิ่มทักษะให้นักเรียนสามารถเผยแพร่แสดงศักยภาพความเป็นตัวตน และเนื้อหาสาระที่ทำให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นได้

นอกจากนี้ คุณธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ ค่าย OYC จึงเป็นค่ายที่จะพัฒนาและบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ติดตัวนักเรียนทุกคน โดยเป็นคุณธรรมที่เป็นลักษณะของการปฏิบัติ เป็นรูปธรรม นักเรียนสามารถตีความได้ว่าดีหรือไม่ดี และนำคุณธรรมมาใส่อยู่ในพฤติกรรม ทำให้พฤติกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนทุกคน สิ่งที่ทำยากที่สุดสำหรับครูคือทำอย่างไรให้เด็กมีคุณลักษณะที่ดีติดตัว และอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่เกิดปัญหาจากความทุกข์ มีสติและเดินต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการปรับการเรียนการสอนให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบ active learning ทำให้เกิดสมรรถนะสำคัญกับนักเรียน นั่นคือการที่นักเรียนได้พูด ถกแถลง และเรียนรู้ตามความถนัดและสนใจ สิ่งสำคัญคือการมีความสุขต่อชีวิต และเป็นความสุขที่มีคุณค่ากับสังคม ดังนั้นเราต้องทำให้นักเรียนเป็นกำลังสำคัญที่เข้มแข็งจากภายใน และสามารถนำความรู้และสิ่งต่าง ๆ ที่ได้จากค่ายนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และแบ่งปันให้เกิดประโยชน์กับเพื่อนๆ ทุกคนได้
“จากที่ได้เห็นในวันนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้น กล้าพูดแสดงความคิดเห็น แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และให้ความร่วมมือกับวิทยากรในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี ขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนทุกคนมีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคตตามศักยภาพของตนเอง มีทัศนคติและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ดีและมุมมองเชิงบวก โดยค้นพบตนเองผ่านวิทยากรจากหลักสูตรค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ และกลับไปขยายผลสร้างเครือข่ายเป็นแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่โรงเรียน พร้อมทั้งยึดมั่นในคุณธรรม-จริยธรรม การรู้จักแบ่งปัน ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อสังคม และขอให้นักเรียนเป็นคนดี เรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ตามที่ท่าน รมว.ศธ. ได้ให้ไว้ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรมในค่ายวันที่ 3 (21 กันยายน 2567) ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 “เยาวชนอาสา วิทยากรคุณธรรม” โดย พลเอก ดร.ศรุต นาควัชระ ที่ให้นักเรียนได้รับการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ผ่านการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการกระทำ 3 ระดับ ได้แก่ การกระทำระดับดี ปกติ ชั่ว และสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ว่าสถานการณ์ใดเป็นการทำดีที่ทำเพื่อส่วนรวม และการละเว้นความชั่วโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน โดยนักเรียนสามารถสำรวจการกระทำของตนเอง พร้อมนำไปปฏิบัติและถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น และนักเรียนได้เรียนรู้กิจกรรมผ่านการจัดค่ายโครงการจิตอาสา ค่ายคุณธรรมด้วยกระบวนการกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การขยายผลจัดกิจกรรมในโรงเรียนและเครือข่ายต่อไป และกิจกรรมที่ 2 “การตัดต่อคลิปโดนใจ เรียกยอด Like ในโซเชียลมีเดีย และเทคนิคการทำ Project ให้ปัง สร้างสรรค์สังคมไทย (CSR Project)” โดย ทีมวิทยากร M&M Studio ให้นักเรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับรูปแบบสื่อในโซเชียลมีเดียที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน เทคนิคการดึงดูดความสนใจในการสร้างวีดิโอ วิธีการนำเสนอจุดสำคัญในวีดิโอสั้น และนักเรียนได้ร่วมกิจกรรมกลุ่มในการออกแบบสร้างสรรค์วิดีโอจากการลงพื้นที่โดยประยุกต์ใช้เทคนิคที่รับจากการจุดประกายการเรียนรู้โดยใช้ CapCut เพื่อเตรียมออกแบบและนำเสนอผลงาน CSR Project ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น