มติรัฐคุมเข้มเกินเหตุนำเข้าข้าวโพด-วัตถุดิบ ส่งผลไม่พอเลี้ยงไก่ทั้งประเทศ กระทบหนักเกษตรกรและผู้บริโภค

กดติดตาม TOP NEWS

ผู้เลี้ยงไก่เนื้อเชื่อราคาข้าวโพดมีโอกาสสูงขึ้นแบบไม่จำกัด หลังมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน เข้มงวดมากขึ้น กดดันอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อย่างหนัก ขณะที่มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรปก็ทำให้ไม่สามารถนำ ข้าวโพดรุกป่า หรือข้าวโพดที่ผ่านการเผามาใช้ได้อีก ไทยส่อขาดแคลนข้าวโพดปีละ 2 ล้านตัน นับเป็นสัญญาณความเสี่ยงทุกทิศทางที่บ่งบอกว่าจากนี้ไป ผู้เลี้ยงไก่จะไม่มีทางนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ได้อย่างเพียงพอ กระทบอุตสาหกรรมไก่ส่งออกและกระทบผู้บริโภคในประเทศแน่นอน

นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าวโพดครั้งที่ 1/2567 ว่ามีเงื่อนไขคุมเข้มการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มากขึ้นกว่าเดิมจนเกินกว่าเหตุ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่กังวลว่าในช่วงปลายฤดูจะมีวัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาใช้เลี้ยงไก่หรือไม่ ทั้งๆที่มาตรการ 3:1 แบบเดิมก็ทำให้ราคาข้าวโพดสูงอยู่แล้วตลอดช่วงที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่เลี้ยงไก่มา ก็เพิ่งเคยพบราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แพงที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา ที่ราคา กก.ละ 13-14 บาท จากปกติที่เคยซื้ออยู่ที่ กก.ละ 8-9 บาท ขณะที่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ กก.ละ 10.50 บาท ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งอยู่ดี

“มติที่ประชุมล่าสุด จะทำให้ข้าวโพดขาดแคลน เอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าพืชไร่เรียกราคาข้าวโพดให้สูงขึ้นไปอีกเท่าไหร่ก็ได้ เพราะรัฐยังไม่ตั้งเพดานราคา ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อ มีความเสี่ยงสูงที่เกษตรกรจะขาดทุน และราคาขายไก่ก็จะสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สุดท้ายย่อมกระทบค่าครองชีพของผู้บริโภค … ถ้ารัฐมีมาตรการเน้นควบคุมปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ และส่งเสริมให้เกิดความขาดแคลน ดันราคาให้แพงขึ้นเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่จะเกษตรกรจะทำฟาร์มเลี้ยงไก่กันต่อได้ ตอนนี้ได้แต่เห็นใจเพื่อนร่วมอาชีพ ทุกคนต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน และสุดท้ายก็จะมาเสียหายขาดทุน เพราะมาตรการนี้” นายสมบูรณ์กล่าว

นายสมบูรณ์ยังให้ความเห็นอีกว่า มาตรการรัฐมีมากมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด แต่ล้วนเป็นมาตรการเฉพาะหน้า ไม่พยายามแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพการผลิต นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพดไทยยังต่ำมองไม่เห็นหนทางที่จะเพิ่มปริมาณข้าวโพดให้เพียงพอได้ สะท้อนว่ารัฐไม่มีนโยบายและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า มตินี้เป็นการคุมเข้มการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคของการเลี้ยงไก่เพื่อการส่งออกของไทย เตรียมแจ้งสมาชิกสมาคมฯ เพื่อทบทวนเป้าการส่งออกเนื้อไก่ เนื่องจากจะมีความเสี่ยงที่จะไม่มีวัตถุดิบข้าวโพดและข้าวสาลีเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงไก่ และอาจจะประสบกับปัญหาราคาวัตถุดิบข้าวโพดที่แพงเกินกว่าจะแข่งขันในตลาดโลกได้ คาดอาจประสบปัญหาขาดทุนได้เหมือนปี 2566 ที่ผ่านมา

“ต่อไปอุตสาหกรรมไก่เพื่อส่งออกของไทย คงจะไม่เติบโตเหมือนที่ผ่านมา และโอกาสที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศให้เพิ่มขึ้นคงเป็นไปได้ลำบากแล้ว และผู้ที่จะลงทุนใหม่หรือขยายการเลี้ยงไก่ ขอให้ทบทวนให้ดี เพราะปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้นทางมีโอกาสขาดแคลนมากขึ้น ทั้งการจำกัดการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อทดแทนข้าวโพดที่ไม่พอ และข้าวโพดจากเพื่อนบ้านก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการเผาหรือรุกป่าหรือไม่ ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก เป็นการซ้ำเติมให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ต้นทางขาดแคลนมากยิ่งขึ้น และหากอีก 2-3 ปี ทางสหภาพยุโรป นำภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) มาใช้กับสินค้าปศุสัตว์ จะยิ่งกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ของไทยมากยิ่งขึ้น” นายคึกฤทธิ์กล่าว และฝากถึงรัฐบาลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ภาครัฐต้องเข้าใจและต้องดูแลทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตให้เดินหน้าไปด้วยกันให้ได้ ทั้งการผลิตข้าวโพดต้นทาง การเลี้ยงไก่ และการส่งออกเนื้อไก่ ถ้าเห็นว่ามีโอกาสที่จะขยายตลาดส่งออก ก็ควรให้มีการจัดหาและบริหารวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้นทางให้มีอย่างเพียงพอ สำหรับการผลิตเนื้อไก่เพื่อการส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย

ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า มาตรการควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เข้มงวดขึ้นในลักษณะนี้ ถือเป็นการคุมกำเนิดวงการปศุสัตว์ไทย เพราะหากไม่มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะนำมาผลิตอาหารสัตว์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด การเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปรับลดขนาดลง ราคาปศุสัตว์ก็จะแพงขึ้น เพราะมีผลผลิตน้อยลง ถือเป็นการเปลี่ยนจากหลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งมีการวางแผนการผลิตอาหารสัตว์จากความต้องการเลี้ยงสัตว์ โดยความต้องการเลี้ยงสัตว์มาจากการความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ มาเป็นการที่รัฐเป็นผู้กำหนดแผนการผลิตปศุสัตว์ หรือเรียกว่า “การวางแผนธุรกิจปศุสัตว์จากส่วนกลาง (Central Planning)” ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งจำกัดจำนวนวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตอาหารสัตว์อย่างเข้มงวด

“มาตรการจำกัดจำนวนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นการล้มล้างหลักการตลาดนำการผลิต และล้มเลิกนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก การส่งออกภาคปศุสัตว์กว่า 2 แสนล้านบาทจะหดหาย และถึงคราวที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเนื้อสัตว์มาบริโภคแทนการผลิตเอง สวนทางความมั่นคงทางอาหารที่ประเทศควรจะมี” นายพรศิลป์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น