นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินงานต่าง ๆ รวมถึงปัญหาของผู้ปฏิบัติงานในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย) พร้อมด้วย คณะผู้บริหารฯ โดยได้รับฟังการบรรยายแผนการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ ของการรถไฟฯ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง), โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ – หนองคาย, โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงบ้านไผ่ – นครพนม / ขอนแก่น – หนองคาย
สำหรับภาพรวมโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันมีความคืบหน้าโครงการ 36% ส่วนประเด็นสถานีอยุธยานัั้น ได้นำส่งรายงาน HIA ให้คณะอนุกรรมการมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาตามลำดับและขั้นตอนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ บริเวณอุโมงค์ผาเสด็จที่มีปัญหาฝุ่นควันนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อตรวจวัดเกณฑ์มาตรฐาน คาดว่าจะเปิดให้บริการอีกครั้งช่วงปลาย พ.ย. 2567
ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวด้วยว่า การเดินทางลงพื้นที่สถานีขอนแก่นครั้งนี้ ยังได้รับฟังบรรยายเกี่ยวกับระบบควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง (Centralized traffic control หรือ CTC) ที่ตั้งอยู่ที่อาคารสถานีขอนแก่น ทำหน้าที่ควบคุมระบบอาณัติสัญญาณ ที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สถานีชุมทางถนนจิระ ถึงสถานีขอนแก่น ซึ่งระบบนี้ ยังสามารถจัดตารางการเดินรถ (Time table) และ การเตรียมทางอัตโนมัติ (Automatic route setting) เพื่อทดแทนผังควบคุมการเดินรถแบบเดิมของการรถไฟฯ โดยปัจจุบันการรถไฟฯ มีระบบ CTC นี้ อยู่ที่อาคารศูนย์ควบคุมบางซื่อ และอาคารสถานีขอนแก่น ซึ่งในอนาคต จะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่การเดินรถทั่วประเทศต่อไป
ขณะที่แผนการพัฒนาตลาดรถไฟขอนแก่น ได้รับฟังการบรรยายโครงการพัฒนาที่ดินเชิงธุรกิจบริเวณย่านสถานีรถไฟขอนแก่น ซึ่งมีเป้าหมายในการนำพื้นที่มาสร้างรายได้ให้กับองค์กร นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ย่านกองเก็บ สถานีหนองตะไก้ เป็นจุดสำคัญในการขนส่งสินค้าภายในประเทศของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) ด้วย ทั้งนี้ การลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะนำทุกความคิดเห็นจากคนรถไฟมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกัน ตลอดจนดูแลด้านสวัสดิการต่าง ๆ ให้พนักงานการรถไฟฯ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
ผู้ว่าการรถไฟฯ ยังมอบหมายให้ผู้บริหารช่วยกันวางแผนการใช้ประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในระยะเวลาอันใกล้นี้ ให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งขอบคุณและขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมกันทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตลอดจนดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
“เราจะพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทยให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนให้ได้โดยเร็ว เพราะรถไฟ เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการเดินทางคมนาคมที่สำคัญของพี่น้องประชาชน” นายวีริศ กล่าว