พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ความคืบหน้าการดำเนินงานจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน โดย คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานอำนวยการสายสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในการแถลงข่าว
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความยินดีที่จะสนับสนุนในการพัฒนาย่าน เขตสัมพันธวงศ์ และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นเขตชั้นในซึ่งมีอัตลักษณ์ที่สำคัญ ช่วงนี้เป็นเทศกาลกินเจ วันนี้เป็นการย้ำชัดว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษ พื้นที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พื้นที่ที่คนไทยเชื้อสายจีนได้อยู่ร่วมกันและสร้างสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของย่าน วันนี้เยาวราชดังไปไกล วันข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควร วันนี้ย่านริมน้ำเริ่มมีการพัฒนา เยาวราชเวลากลางคืนจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แปลงนามในอนาคตก็จะถูกพัฒนา และการพัฒนาอีกหลายรูปแบบเพื่อให้เมืองเป็นเมืองหลวงแห่งพหุวัฒนธรรม และเป็นแอเรียที่สำคัญที่จะจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ส่งเสริมอัตลักษณ์ความสัมพันธ์ไทย-จีน ยังมีอีกหลายเรื่องราว ซึ่งลำพังกรุงเทพมหานครไม่สามารถทำพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำคัญได้ต้องอาศัยคนในย่านเป็นคนสร้าง และรักษา โดยกรุงเทพมหานครพร้อมให้การสนับสนุน
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล กล่าวว่า สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท) ร่วมกับ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ รวมถึงภาคีเครือข่าย จะมีการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 2 ซุ้ม บนถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถาวรวัตถุ อันแสดงถึงเอกลักษณ์แห่งมังกร บนถนนเจริญกรุง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญู รวมถึงการระดมทุนจัดสร้างถาวรวัตถุเฉลิมพระเกียรติฯ เพิ่มเติมจากภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ถาวรวัตถุดังกล่าวสมบูรณ์ งดงาม สมพระเกียรติ หวังจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดให้มวลชนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่องความกตัญญูกตเวที
สำหรับการออกแบบก่อสร้างซุ้มประตูทั้ง 2 แห่ง เป็นรูปแบบซุ้มประตูที่มีธรรมเนียมการก่อสร้างแบบพระราชนิยมของราชวงศ์จีนตอนเหนือ ซึ่งพระคณาจารย์จีน ธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ได้มอบแนวคิดในการออกแบบ บางส่วนจะเป็นลายไทยออกแบบให้ผสมผสานและแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และเนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ครบรอบ 50 ปี ในปี 2568 สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย จึงได้ร่วมจัดทำหินฮั่นไป๋หวี่ (หินอ่อนหยกสีขาว) แกะสลักรูปช้าง สิงโต และกลอง เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยจะประดิษฐานที่เสาซุ้มประตูด้วย การก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ กรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรตินี้ จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อแผ่นดิน และสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่องความกตัญญูกตเวทีอันเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่สำคัญ
ในวันนี้ นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ สายหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ สายหอการค้าไทย-จีน และชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ พ.ต.อ.มนูญ วงศาโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ดร.เศรษฐพงศ์ จงสงวน รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการก่อสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ และผู้แทนเครือข่าย ร่วมแถลงข่าว