จับตาภูมิใจไทย 65 สส. งดออกเสียงอุ้มสว. รื้อประชามติ 2 ชั้น แทงกั๊ก “เกมต่อรอง”
ข่าวที่น่าสนใจ
ประเด็นการพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังเป็นเรื่องที่หาข้อยุติไม่ได้หลังจากก่อนหน้านี้ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภามีมติเสนอแก้ร่างของ สส. กำหนดว่าใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงในการทำประชามติให้กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น โดยล่าสุดในวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อนเพื่อลงมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สว.หรือไม่
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวพบว่า มีความคิดเห็นหลากหลาย โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรรคประชาชน เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ต่างดาหน้าออกมาถล่มความเห็นของ สว.ที่ให้กลับไปใช้เสียง 2 ชั้นโดยระบุว่าเป็นการปิดประตูตอกฝาโลงแก้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่ สส.พรรคภูมิใจไทย อาทิ น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี และ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี อภิปรายเห็นต่างกับพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยเห็นด้วยกับที่วุฒิสภาที่ให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหนทางที่สง่างาม และได้ผลการทำประชามติที่มากพอ
สุดท้ายเมื่อมีการลงมติพบว่า ที่ประชุม สส.มีมติไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไข 348 เสียง เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 65 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง พร้อมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จำนวน 28 คน สัดส่วนกมธ.สส. 14 คน สว. 14 คน
การลงมติไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไขให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นจำนวน 348 เสียงของบรรดา สส.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเช่นพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน แต่ที่น่าสนใจคือเสียงของ สส.ที่งดออกเสียงจำนวน 65 เสียงนั้น คือ เสียงส่วนใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย
อย่างไรก็ตามที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือการเลือกใช้วิธีงดออกเสียงดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายตีความกันว่า ภูมิใจไทยกำลังแทงกั๊ก เพราะต้องการต่อรองอะไรหรือไม่ เนื่องจากในการอภิปรายเห็นได้ชัดว่า ท่าทีของภูมิใจไทยเห็นด้วยกับหลักการของ สว.ที่ต้องการใช้การออกเสียงประชามติ 2 ชั้น ดังนั้นแทนที่ สส.ภูมิใจไทยจะเลือกโหวตสวนมติ สส. แต่กลับเลือกใช้วีธีนุ่มนวลด้วยการงดออกเสียง จึงทำให้ให้ถูกมองว่า ภูมิใจไทยกำลังเล่นไพ่สองมือ เพื่อแบะท่าเปิดช่องในการต่อรองทางการเมืองอะไรหรือไม่
จากประเด็นการงดออกเสียงดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ภูมิใจไทยกำลังเล่นละครการเมือง เพื่อหลอกลวงประชาชนหรือไม่ และจากเหตุการณ์นี้ทำให้เรื่องนี้ไปสัมพันธ์กับข่าวการเข้าพบระหว่างนายเนวิน ชิดชอบ และนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นคนกลางเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหรือไม่
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาจุดยืนของภูมิใจไทยจะสวนทางกับพรรคเพื่อไทยมาอย่างต่อนื่อง อาทิ การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทยจนสุดท้ายต้องล่มไม่เป็นท่า รวมถึงการคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยเฉพาะประเด็นมาตรา 112
เป็นที่ทราบกันดีว่า สว.ในสภาสูงส่วนใหญ่ถูกขนานนามว่าเป็น สว.สีน้ำเงิน ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยต้องการผ่านกฎหมายสำคัญ หรือคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระ รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ จะต้องผ่านด่านของ สว.ไปก่อน และด้วยเหตุผลดังกล่าวใครจะกล้าปฏิเสธว่า ภูมิใจไทยคือผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาสูง เพราะที่ผ่านมาพลังของ สว.สีน้ำเงินเคยแสดงให้เห็นมาแล้วจากกรณีโหวตหักรัฐบาลในการออกเสียงประชามติให้กลับไปเป็นเสียงสองชั้นมาแล้ว
จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดสัญญาณทางการเมืองว่า การที่นายเนวินไปพบนายทักษิณ เพราะกำลังต้องการต่อรองเพื่อสร้างดุลอำนาจใหม่ซึ่งกันและกัน โดยแบ่งสภากันดูแล รวมถึงต้องการเดินหน้าในผลประโยชน์เกี่ยวกับนโยบายเรือธงต่าง ๆ ที่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายของภูมิใจไทยหรือไม่ เช่นกฎหมายกัญชง กัญชาที่ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะออกไปในทิศทางใด และอาจรวมถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ดังนั้นการงดออกเสียงของ สส.ภูมิใจไทยจำนวน 65 เสียง จึงมีนัยยะสำคัญที่โยงใยไปถึงประเด็นร้ายลึกต่างๆ ทางการเมือง และด้วยเหตุนี้จึงต้องจับตาการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า จะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร และสุดท้ายหากยังยืนยันที่จะใช้การออกเสียงประชามติแบบเสียงข้างมากตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ แน่นอนว่า กฎหมายฉบับนี้กต้องรอไปอีก 180 วัน เพื่อยืนยันและประกาศใช้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ไม่ทันกรอบเวลาทําประชามติครั้งแรกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 2568 อย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น