ในหลวง ร.9 กับ 9 “พระราชกรณียกิจ” อันทรงคุณค่า ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

9 พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันทรงคุณค่า หลายเรื่องราว ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9

 

เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ วันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ตุลาคม 2567 ครบรอบ 8 ปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี Top News รวมรวม พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 กว่า 3,000 โครงการ ทั้งด้านการเกษตรและชลประทาน ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี อันทรงคุณค่า ที่ทำให้พสกนิกรชาวไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ข่าวที่น่าสนใจ

ในหลวง รัชกาลที่ 9 กับ 9 พระราชกรณียกิจ อันทรงคุณค่า

 

1. โครงการแก้มลิง

 

จากปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปี 2538 กินเวลายาวนานกว่า 2 เดือน ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริ จัดทำ “โครงการแก้มลิง” เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย พร้อมทั้งช่วยอนุรักษ์น้ำ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยอิงจากหลักการกินกล้วยของฝูงลิง

 

“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ

 

จึงเกิดเป็นทฤษฎีแก้มลิง ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ให้สร้างขึ้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง โดยใช้หลักการทางธรรมชาติคือกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ เพื่อรอเวลาระบายออก

 

โครงการแก้มลิงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ช่วยให้ชาวไทยรอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนน้ำ

 

โครงการแก้มลิง

 

2. โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา

 

กังหันน้ำชัยพัฒนา สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ จากพระราชดำริของในหลวงรัชการที่ 9 ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการวิจัย และพัฒนา เริ่มตั้งแต่ปี 2532 ทำงานโดยการหมุนปั่น เพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสีย จากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจน ให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร

 

กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 หลังจากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สนองพระราชดำริ ในการพัฒนากังหันน้ำ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ยื่นขอรับสิทธิบัตร จึงนับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และครั้งแรกของโลก และถือว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันนักประดิษฐ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

3. โครงการแกล้งดิน

 

โครงการแกล้งดิน เกิดขึ้นเมื่อครั้ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรใน จ.นราธิวาส เมื่อปี 2524 ทรงพบว่า ดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออก เพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปี ให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย

 

โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

 

เริ่มจากวิธีการ “แกล้งดินให้เปรี้ยว” คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัด จนถึงขั้น “แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด” จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้น จึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน หรือถูกออกซิไดซ์

 

ในหลวง รัชกาลที่ 9

 

4. โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน

 

“ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือพลเมืองนั่นเอง” พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเห็นความสำคัญด้านสาธารณสุข

 

โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน จึงเป็นโครงการแรก ในพระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์ ซึ่งถือกำเนิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2512 หลังจากที่พระองค์ เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนที่โครงการชาวเขา และทรงพบว่า ราษฎรที่มารอรับเสด็จฯ เจ็บป่วยกันมาก อีกทั้งยังมีความยากลำบากในการเดินทางไปรักษา ดังนั้น จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ที่ตามเสด็จฯ ทำการตรวจรักษาประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วย โดยไม่ต้องเสียค่ารักษาใดๆ

 

นอกจากนี้ โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน ยังมีการจัดอบรมหมอหมู่บ้านนั้นๆ เพื่อช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคภัยต่างๆ และรู้จักวิธีรักษาพยาบาลแผนปัจจุบันอย่างถูกต้อง รวมทั้งยังมีการอบรมให้ราษฎรรู้จักการติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่อาการบาดเจ็บ หรือความเจ็บป่วยนั้นๆ มีความรุนแรงเกินขีดจำกัด

 

ในหลวง รัชกาลที่ 9

ในหลวง รัชกาลที่ 9 กับ 9 พระราชกรณียกิจ อันทรงคุณค่า

 

5. โครงการฝนหลวง

 

โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นเมื่อคราวที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรในภาคอีสาน เมื่อปี 2498  ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร และเกษตรกร ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ( Artificial rain) ให้กับ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ

 

ต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียม หรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2512 ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป

 

วันที่ 20 สิงหาคม 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” พร้อมกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวัน “พระบิดาแห่งฝนหลวง”

 

6. พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

 

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่ประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อส. โดยใช้สถานที่คือพระราชวังสวนดุสิต โดยใช้ชื่อว่า อส. มาจากชื่อย่อของ พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศเป็นครั้งแรกด้วย และใช้รหัสสถานีว่า ss1as ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงย้ายสถานี อส.เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในปี 2500 โดยในช่วงนั้นสถานี อส. กลายเป็นสถานีวิทยุที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังอย่างมาก ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ที่สามารถรับฟังผ่านทางคลื่นสั้น หลังจากนั้น พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง จาก 1,000 วัตต์ เป็น 1 กิโลวัตต์ ทำให้ฟังชัดและไกลขึ้น

 

นั่นจึงถือเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจ ด้านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้เรามีวิทยุฟังจนถึงปัจจุบัน

 

ในหลวง รัชกาลที่ 9

7. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

 

เป็นหนังสือสารานุกรมที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรกในปี 2516 จนถึงปัจจุบัน รวม 44 เล่ม เป็นสารานุกรมภาษาไทย จัดทำขึ้นเป็นรูปเล่ม โดยมีเนื้อหาบางส่วนเผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุด เน้นความรู้ที่เกิดขึ้น และใช้อยู่ในประเทศไทย แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา เนื้อหาของเรื่องต่างๆ เรียบเรียงให้เหมาะสมกับ 3 ระดับความรู้ ให้แก่ เด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลาง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่สนใจทั่วไป

 

“หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ” พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

8. พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก

 

พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก มีโครงเรื่องมาจาก อรรถกถา มหาชนกชาดก ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เป็นเรื่องว่าด้วยประวัติพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยชาติเป็น “พระมหาชนก” เพื่อบำเพ็ญวิริยะบารมี ซึ่งที่มาของพระราชนิพนธ์ เกิดจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงรับฟังพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมมสาโรมหาเถร) วัดราชผาติการาม เมื่อปี 2520 จึงเริ่มทรงพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ก่อนเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี 2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชนในปี 2539 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี

 

พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก เป็นวรรณกรรมที่ทำยอดพิมพ์และยอดจำหน่ายถึง 600,000 เล่ม สร้างยอดขายเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2539 เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ต่อมา พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ในราคาย่อมเยา และปรับเนื้อหาให้อ่านง่ายขึ้น ได้พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสเฉลิมชนมพรรษาครบ 6 รอบ (72 พรรษา) ในปี 2542 มียอดจำหน่าย 3,000,000 เล่ม และต่อมาในปี 2543 ได้จัดให้มีการพิมพ์ พระมหาชนก ฉบับการ์ตูนสี่สี และทำยอดขายได้ 266,000 เล่ม

 

นับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน พระราชนิพนธ์พระมหาชนก ทั้ง 3 รูปแบบ ได้มีการจัดพิมพ์ และจัดจำหน่ายแล้วเกือบ 4 ล้านเล่ม มูลค่านับพันล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า

 

ในหลวง รัชกาลที่ 9

 

9. โครงการปลูกหญ้าแฝก

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่ Mr.Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พบว่า หญ้าแฝก สามารถนำมาปลูกเป็นแถวเป็นแนว เพื่อเป็นปราการธรรมชาติ ช่วยกรองตะกอนดินที่ถูกชะล้างมากักเก็บไว้ ชะลอความเร็วของน้ำตามธรรมชาติ และทำให้ดินดูดซับน้ำได้ทัน

 

โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2536 หัวหน้าสาขาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัลรากหญ้าแฝกชุบสำริด (The Bronze Vetiver Sculpture Award) เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณ (Award of Recognition) ในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำ

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : วิกิพีเดีย, luehistory

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น