หากยังจำได้ว่ามีการพบบ่อบำบัดน้ำเสียในโครงการบำบัดน้ำที่ปากพนังซึ่งถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของปลาหมอคางดำและมีชาวบ้านแห่จับส่งขายรัฐได้เป็นจำนวนมากนั้น น่าจะเป็นเพราะเป็นพื้นที่ของรัฐที่ทิ้งร้าง ชาวบ้านจึงกล้าที่จะเข้าไปจับปลาไปขาย ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำได้ดีและช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายปลาด้วย ส่วนบ่อร้างในพื้นที่ส่วนบุคคล … คงไม่มีใครกล้าเข้าไปบุกรุก แล้วรัฐจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร
ชาวบ้านในพื้นที่สมุทรสาคร-สมุทรสงครามเล่าให้ฟังว่า แม้ปลาหมอคางดำตามลำคลองแหล่งน้ำธรรมชาติจะลดลงมากแล้ว ที่เหลืออยู่ก็พวกตัวเล็กตัวน้อย แต่อยากให้รัฐแวะไปดูตามบ่อร้างหรือกระชังที่ทิ้งร้างไว้ มันยังมีปลาหมอคางดำอีกเยอะที่ไม่มีใครกล้าจับ เพราะเป็นที่ที่มีเจ้าของ การเข้าไปจับในบ่อร้างเหล่านั้น อาจถูกมองว่าเป็นการบุกรุก ลักทรัพย์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ผิดกฎหมาย และเจ้าของที่สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปกำจัดปลาเหล่านั้น ทั้งๆ ที่มันเป็นสัตว์รุกรานที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าต้องช่วยกันทำลาย นับเป็นข้อจำกัดของการกำจัดปลาหมอคางดำที่อาจจะมองได้หลายมุม
มุมที่ 1 : บ่อร้างอาจเป็นบ่อร้างจริงๆ ที่เจ้าของบ่อละเลย ไม่มาดูแล ขณะที่ชาวประมง – ชาวบ้านเห็นปลาหมอคางดำจำนวนมากแล้วอยากจะจับไปส่งขายเหลือเกิน แต่ก็ไม่สามารถรุกเข้าไปพื้นที่ดังกล่าวได้ ทำให้ปริมาณปลายังคงค้างอยู่ในบ่อร้าง ไม่ได้ถูกกำจัด และสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ง่ายต่อการแพร่ระบาดอีก ตรงนี้รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้การกำจัดปลาหมอคางดำสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างถึงที่สุด