“กพอ.”เห็นชอบ หลักการแก้ปัญหา “โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน” เสนอครม.แก้สัญญา 5 ประเด็น

กพอ. เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

“กพอ.”เห็นชอบ หลักการแก้ปัญหา “โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน” เสนอครม.แก้สัญญา 5 ประเด็น – Top News รายงาน

กพอ.

 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นเลขานุการการประชุมฯ

กพอ. เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
ที่ประชุม กพอ. เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม*สามสนามบิน (*สามสนามบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา) โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.    วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท ปรับเป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตรวจรับวงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน
2.    กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระ
งวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
3.    กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท. มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวน
ที่จะตกลงกันต่อไป
4.    การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้
5.    การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น
ที่ประชุม กพอ. มีมติให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ. และ ครม. เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป

 

ข่าวที่น่าสนใจ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่ อีอีซี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
•    เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
•    เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางระหว่างท่าอากาศยานเข้าสู่ เขตเมืองและเขตธุรกิจได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
•    พัฒนาพื้นที่เพื่อสนันสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา
•    เป็นโครงการฯ ที่ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและลดอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีระบบควบคุมที่มีความปลอดภัยสูง

 

กพอ. เห็นชอบ ให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา
จากการที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ และ สกพอ. เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจำเป็นต้องขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่อไป ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

กพอ. ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามที่ ครม. อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 และให้ สกพอ. ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562 ต่อไป โดย สกพอ. จะนำเสนอให้ ครม. รับทราบมติดังกล่าว และพิจารณายกเลิกมติ ครม. วันที่ 30 ตุลาคม 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขต EEC

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. ยังได้รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 โครงการใหญ่ และการชักชวนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ *เศรษฐกิจ BCG (*เศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ) และบริการ โดยในช่วงตั้งแต่มกราคม 2566 ถึงกันยายน 2567 สกพอ. ได้ดำเนินการชักชวนนักลงทุน 139 ราย โดยมีนักลงทุนที่สนใจการลงทุนใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าวและได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) รวม 35 ราย จำนวน 36 โครงการ มีการยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซีแล้ว จำนวน 12 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

รวบทันควัน เจ้าช้างน้อย บุกลักทรัพย์นักธุรกิจ ประวัติสุดแสบ! แหกบ้านพักเด็กหนี ไปตระเวนก่อเหตุลักทรัพย์ทั่วพัทยา
ล่วงฆ่าแม่ยายอัยการ สืบสัตหีบ ไล่กล้องวงจรปิดพบเก๋งคนร้าย มารับตัวก่อนลวงไปฆ่าชิงทรัพย์ ล่าสุด เจอตัวแล้ว
ตำรวจสืบภาค 2 และตำรวจหนองขาม ควบคุมตัวหญิงผู้ต้องสงสัย พร้อมรถยนต์เก๋ง คดีล่วงฆ่าชิงทรัพย์แม่ยายอัยการ ล่าสุดให้การปฏิเสธ ในขณะสามีผู้สงสัยหายตัว
จังหวัดสุรินทร์ จัดยิ่งใหญ่งานแสดงช้าง กับ 5 องค์การแสดง นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ แห่ชมแน่นสนาม ด้านรัฐมนตรีศึกษาธิการนั่งช้างเปิดงาน
สีจิ้นผิงหนุนเร่งสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ขยายความร่วมมือเกิดใหม่
"กองบิน 46" ประกอบพิธีทำบุญทอดกฐินสามัคคี ประจำปี2567
คาด่าน "รถ18 ล้อ" ดัดแปลงใต้ท้องรถซุกแรงงานต่างด้าว 8 คน ไม่พ้น สายตาจนท.ด่านตรวจ
คุมตัว “กฤษอนงค์” เค้นสอบ เจ้าตัวไหว้สวย ยิ้มแย้มไร้กังวล ด้านพนักงานสอบสวน คัดค้านการประกันตัว เตรียมฝากขังศาลภายใน 48 ชม.
ชาวสัตหีบชาวไทยและต่างชาติ ร่วมลอยกระทง สืบสานประเพณีไทย
วัดแทบแตก!! ผู้คนแห่ ”ลอยกระทง” ท่าน้ำประวัติศาสตร์”หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ” วัดคงคาเลียบเมืองคอน -อบต.ท่าชักเตรียมสนองนโยบายรัฐบาลทุ่มพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทาง ศาสนาศิลปะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น