“ดร.อานนท์” เผยข้อสังเกต 7 ข้อ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ไม่ได้ประกอบกิจการจริง แต่ชวนปชช.มาร่วมลงทุน

"ดร.อานนท์" เผยข้อสังเกต 7 ข้อ แชร์ลูกโซ่ "paper company" ไม่ได้ประกอบกิจการจริง แต่ชวนปชช.มาร่วมลงทุน

Top news รายงาน วันที่ 19 ต.ค.2567 ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุข้อความว่า แชร์ลูกโซ่ คือ Paper Company อย่างหนึ่ง พึงระวังได้อย่างไร (ตอนที่ 2) ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แชร์ลูกโซ่ นั้นจัดว่าเป็น paper company อีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ประกอบกิจการจริงหรือทำธุรกิจจริง แต่ชวนประชาชนมาร่วมลงทุน

โดยชักจูงใจด้วยความสำเร็จหรือผลตอบแทนที่งดงามเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ นำเงินมาลงทุน ในรูปแบบต่าง ๆ สมัครสมาชิก กู้ยืมเงิน ค้าเงินตราต่างประเทศ ค้าเงินคริปโต และอื่น ๆ แต่ทั้งหมดทั้งปวงคือไม่ได้ค้าขายจริง และไม่สามารถทำให้เกิดผลตอบแทนงดงามได้จริงตามที่หลอกลวงโฆษณา ผู้ที่เข้าไปก่อนจะได้รับผลตอบแทนดีงามและชักจูงคนอื่น ๆ มาเป็นดาวน์ไลน์ต่อกันเป็นลูกโซ่ กระแสรายได้ (Revenue stream) หาได้มาจากการประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง แต่มาจากการลงทุนของสมาชิกอย่างต่อเนื่องและนำเงินมาหมุนไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังมีเหยื่อรายใหม่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกหรือเข้ามาลงทุนก็จะมีเงินหมุนต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่เมื่อไหร่เกิดสะดุดขึ้นมา ขาดสภาพคล่อง (Liquidity) หรือมีคนจับได้และแจ้งความดำเนินคดีก็จะเกิดปัญหาในท้ายที่สุดและส่งผลกระทบต่อรายหลัง ๆ ที่ถูกชักจูงเข้ามามากกว่ารายที่เข้าไปลงทุนก่อนที่ยังพอได้ผลตอบแทนอะไรไปแล้วบ้าง (กับตัวการที่ตั้งบริษัทแชร์ลูกโซ่) ที่มักจะเล่นแร่แปรธาตุเอาเงินผ่องถ่ายออกไปจนหมดแล้ว

แชร์ลูกโซ่แบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Ponzi Scheme น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โดย Charles Ponzi เชื้อสายอิตาลี ในสหรัฐอเมริกา ในราว คศ. 1920 จริง ๆ ก็อาจจะมีแชร์ลูกโซ่ก่อนหน้านั้น แต่อาจจะยังไม่โด่งดังหรือส่งผลกระทบเท่ากรณี Ponzi Scheme ซึ่งจะได้ผลไปจนกว่าจะหมดผู้เข้ามาลงทุนรายใหม่หรือมีคนจับได้ไล่ทัน

Ponzi เริ่มต้นหลอกนักลงทุนว่าสามารถสร้างผลกำไรมหาศาลจากการซื้อขาย International Reply Coupons (IRCs) ซึ่งเป็นคูปองที่ใช้แลกแสตมป์ในการส่งจดหมายระหว่างประเทศ โดยการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนซื้อในประเทศที่ค่าเงินอ่อนและขายในประเทศที่ค่าเงินแข็ง สามารถทำกำไรได้ถึง 400% ในเวลา 90 วันหรือ 1,600% ในเวลาประมาณหนึ่งปี และสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน 100% ภายในสามเดือน หรือ 400% ภายในหนึ่งปี

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ลักษณะของแชร์ลูกโซ่หรือ Ponzi Scheme นั้นมีลักษณะดังนี้

หนึ่ง มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงมากแต่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก อันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับทฤษฎีทางการเงิน High risk, high expected return ความเสี่ยงสูง อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังสูง การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง และการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงย่อมมีความเสี่ยงที่สูงกว่า ดังนั้นการลงทุนใดที่รับรองโอกาสในการทำกำไรที่สูงลิ่วย่อมต้องเป็นที่ต้องสงสัยสูงไว้ก่อน จึงจะสมเหตุสมผล ไม่สามารถรับรองผลตอบแทนได้ หากรับรองก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่มากกว่าการลงทุนอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

สอง ผลตอบแทนที่คงเส้นคงวาเกินไป (Overly consistent returns) การลงทุนทุกชนิดมีได้มีเสีย มีขึ้นมีลง มีความผันผวน ตลอดเวลา ซึ่งเรียกว่าความเสี่ยง อาจจะเป็นทั้งความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) ซึ่งมีเหตุผลอธิบายได้ว่าเกิดจากอะไร เช่น ความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่เป็นผลมาจากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์หรือสภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น และความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ (Unsystematic risk) ที่อธิบายได้ยากหรือยังไม่มีคำอธิบาย อย่างไรก็ตามพึงระมัดระวังและไม่เชื่อไว้ก่อนหากการลงทุนใดกล่าวอ้างว่ามีแต่ได้ไม่มีทางเสีย โดยมิได้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสภาพตลาด การลงทุนใดที่นิ่งผิดปกติ คงเส้นคงวา จนเกินไป จนไม่มีความเสี่ยงเลย ย่อมผิดปกติ และมีแนวโน้มจะเป็นแชร์ลูกโซ่หลอกลวงฉ้อโกงประชาชน

สาม การลงทุนที่ไม่มีการจดทะเบียน (Unregistered investments) แชร์ลูกโซ่มักเป็นบริษัทขนาดเล็ก ตั้งใหม่ โดยคนไม่รู้หัวนอนปลายตีน แต่ดึงดาราหรือ influencer มาเป็นโฆษกหรือ presenter เช่นเดียวกันกับ paper company ที่จะเปิดมาเร็ว แล้วก็ปิดไปเร็ว ไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคง ไม่มีทางเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีทางเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและกำกับควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ มักจะเข้าไปสู่การจดทะเบียนประเภทธุรกิจบางอย่างที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมเดียวกันไม่ได้ เช่น เข้าไปจดทะเบียนขายตรงไม่ได้ ก็อ้างว่าเป็นการตลาดทางตรงแทน เป็นต้น การได้รับการจดทะเบียนอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายนั้น เป็นเครื่องช่วยให้นักลงทุนพอจะเชื่อใจได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็จะมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงิน กรรมการบริษัท สินค้าและบริการ ในระดับหนึ่ง

สี่ ผู้ขายหน่วยลงทุนหาได้มีใบอนุญาตไม่ (Unlicensed sellers) การขายหน่วยลงทุนต่าง ๆ ต้องมีใบอนุญาต ไม่ว่าจะขายกองทุนรวม ประกันชีวิต หรือประกันภัยต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ขายหน่วยลงทุนต้องผ่านการสอบหรือการอบรม ในขณะที่แชร์ลูกโซ่มักจะชักชวนให้ไปลงทุนโดยบุคคลหรือบริษัทที่ไม่ได้มีใบอนุญาต ดังนั้นพึงต้องระวังอย่างยิ่ง

ห้า มักมีกลยุทธ์อันซับซ้อน เป็นความลับดูมหัศจรรย์ (Secretive, complex strategies) ไม่สามารถอธิบายตัวแบบทางธุรกิจ (Business model) ให้ชัดเจนได้ โดยเฉพาะกระแสรายได้ (Revenue stream) นั้นจะมาจากไหน ชักชวนว่าไม่ต้องขายของเลย แต่มีรายได้จากการชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนมากมาย เช่นนี้ เป็นต้น กระแสรายได้ผิดปกติที่ฟังแล้วไม่อาจจะเข้าใจได้ว่าทำกำไรมาได้อย่างไร หารายได้มาได้อย่างไร หรือมีข้อมูลไม่ครบเพียงพอ ธุรกิจหรือบริษัทเหล่านี้มักจะเป็นแชร์ลูกโซ่ ให้พึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

หก บริษัทแชร์ลูกโซ่มักมีประเด็นปัญหาเรื่องเอกสารที่เป็นทางการ (Issues with paperwork) ปัญหานี้อาจจะซับซ้อนมากพอสมควร เพราะอาจจะมีผู้สอบบัญชีสายโจรเข้าไปรับรองงบการเงิน แต่อย่างไรก็ตามหากไปวิเคราะห์งบการเงินก็จะเห็นความผิดปกติของบริษัทแชร์ลูกโซ่ได้อย่างชัดเจน บริษัทแชร์ลูกโซ่จำนวนมาก ไม่สามารถหาเอกสารที่เป็นทางการเช่น งบการเงินที่ได้รับการรับรอง หนังสือบริคณห์สนธิ และเอกสารสำคัญอื่น ๆ ทางกฎหมายและทางการเงิน บางครั้งก็อาจจะเป็นเอกสารปลอมให้พึงระวังและสืบค้นข้อมูลให้เต็มที่ที่สุดก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่

และ เจ็ด บริษัทแชร์ลูกโซ่ มักจะมีปัญหายุ่งยากในการจ่ายเงิน (Difficulty receiving payments) เวลาที่ลงทุนแล้ว หากมีผลตอบแทนสูงจะพยายามชักชวนให้ลงทุนกลับไป (Re-invest) ไม่ยอมจ่ายเป็นเงินสดออกมา แต่จะให้ลงทุนเพิ่มไปอีก และนำตัวเลขผลตอบแทนที่สูง ทบต้นทบดอก มากมายมหาศาลมาล่อใจให้ลงทุนต่อ ไม่จ่ายเงินสดหรือผลตอบแทนออกมาเสียที หลายครั้งจะนำเสนออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนกลับที่สูงยิ่งกว่าเดิมมาล่อใจ นักลงทุนในแชร์ลูกโซ่ที่ถูกหลอกก็จะฝันหวานกับตัวเลขผลตอบแทนอันรัญจวนใจแต่ไม่มีเงินอยู่จริง ที่แชร์ลูกโซ่พยายามจะไม่จ่าย ก็เพื่อรักษาสภาพคล่องและทำให้เงินยังคงหมุนต่อไปได้ เพื่อไม่ให้ลูกโซ่ขาดผึงลง ในอดีตมีแชร์ลูกโซ่ในประเทศไทยที่รองศาสตราจารย์ทางคอมพิวเตอร์เป็นผู้ฉ้อโกง แล้วเรื่องแดง โซ่ขาดผึงเมื่อศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งเสียชีวิตลง และทายาทได้มาทวงคืนเงินทั้งหมดพร้อมผลตอบแทนที่ลงทุนไว้ เนื่องจากศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาผู้ล่วงลับ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในแชร์ลูกโซ่นี้ ทำให้แชร์ลูกโซ่นี้ขาดสภาพคล่องและหมุนเงินไม่ทันจนถูกจับกุมดำเนินคดีในท้ายที่สุด ดังนั้นหากมีปัญหาในลักษณะการจ่ายเงินยากให้พึงสงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ และพึงมีสติในใจว่ากำขี้ดีกว่ากำตด (ได้ผลตอบแทนน้อยก่อนในมือยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“กรมที่ดิน” ยันทำตามคำสั่งศาลปกครอง ปมรังวัดเขากระโดง
"ปิยบุตร" อ้างเฉย "ก้าวไกล" พลาดตั้งรัฐบาล ไม่เกี่ยวรื้อ แก้ 112 แต่เพราะเพื่อทักษิณกลับบ้าน
“อนุทิน” ย้ำปมเขากระโดง ทุกฝ่ายใช้สิทธิ์ตามกม. ขออย่าโยงสัมพันธ์พรรคร่วม
"ชาวบ้านหนองมะกอก" อุทัยธานี ต่อยอด "เงินหมื่น" ซื้ออะไหล่ซ่อมอุปกรณ์การเกษตร ลดค่าใช้จ่ายเกษตรกร
“วีริศ” สั่งการรถไฟฯ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ 20-26 พ.ย.นี้
“พิชัย” แจงเงินหมื่นเฟสสอง ให้คนชรา 60 ปีขึ้นไป ไม่เกินตรุษจีน 68 เฟสสามรอเมษายน-มิถุนายน
"รมต.จิราพร" เผยคนไทยปลื้มใจ ได้เฝ้ารับเสด็จและชมความงดงาม “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค”
DSI จ่อบุกเรือนจำสอบ ‘กฤษอนงค์’ ปมคลิปเสียงอ้างจ่าย 10 ล้าน
กรมที่ดินชี้แจงผลการรังวัดที่ดินเขากระโดง ยืนยัน ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครอง และร่วมตรวจสอบแนวเขตที่ดิน กับ รฟท. ตามกฎหมายทุกขั้นตอน
ชมรมกีฬาเปตอง การเคหะแห่งชาติ จัดกิจกรรม “CSR ประจำปี 2567” มอบสนามกีฬาเปตอง ณ โรงเรียนบ้านคลองปลายนา อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น