“ญาติเหยื่อ” คดีตากใบ ขอความยุติธรรม ก่อนหมดอายุความ ย้ำต้องเจ็บปวดตลอดชีวิต จี้รบ.ขอโทษ – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “คดีอาญาตากใบขาดอายุความ : ความรับผิดชอบใคร จะดำเนินคดีต่อได้หรือไม่?”
นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า คดีตากใบถือเป็นสัญลักษณ์ไม่เป็นธรรมชายแดนใต้ 20 ปีที่ผ่านมา และยังมีสถานการณ์อยู่ เรื่องการแก้กฎหมายในฐานะที่ทำงานในพื้นที่ มองว่าเป็นกลไกกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมในพื้นที่ได้ เช่น การไต่สวนการตาย ไม่ใช่การปกป้องเจ้าหน้าที่ แต่ต้องนำไปสู่การกระทำความผิด มีหลายครั้งที่คนกระทำความผิดลอยนวล
นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวอีกว่า การไต่สวนการตายต้องส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน จะต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำผิดอาญาหรือไม่ ถ้ามีต้องเดินหน้าหาตัวผู้กระทำความผิด และแจ้งข้อกล่าวหา แต่คดีที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีกรอบการไต่สวนการตายเบื้องต้นว่าตายยังไง ใครทำให้ตาย ต้องรับผิดชอบหรือไม่ จะทำอย่างไรต่อ พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าคดีตากใบไม่เป็นผลต่อความผิดในคดีอาญา ส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่เห็นตามพนักงานสอบสวน กฎหมายไม่ตัดสิทธิ์ญาติผู้ตายที่จะดำเนินคดีด้วยตัวเอง
“ญาติของผู้ตายรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีใครรับผิดชอบ เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเป็นกระแส ทุกปีที่ครบรอบเหตุการณ์ตากใบ จะมีคนไปละหมาดให้คนตาย ภาคประชาสังคมแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ไม่มีความคืบหน้าทางคดี จนปี 66 ได้รวมกลุ่มกันไปฟ้อง และปัญหาในพื้นที่ยังอยู่ กลไกการไต่สวนจะสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ ปัญหาในพื้นที่มีเยอะ แต่ความยุติธรรมคือปัญหาหลัก และสะท้อนออกมาในกระบวนการยุติธรรมที่ยังมีอยู่ในตอนนี้”