“ดร.ณัฏฐ์” ชี้ขยายอายุความ “คดีตากใบ” กระทบความเชื่อมั่น
ข่าวที่น่าสนใจ
24 ตุลาคม 2567 ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชนคนดัง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “คดีตากใบ” ว่า คดีตากใบ ถือเป็นคดีอาญาปกติ มีอายุความ 20 ปี จะครบกำหนดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม ศกนี้ ในประเด็นเรื่องอายุความในคดีอาญา หากพนักงานอัยการหรือราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องต้องใช้สิทธิฟ้อง และได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 วรรคหนี่ง (1)
คำว่า “ได้ตัวผู้กระทำความผิด” หมายความว่า โจทก์ต้องได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจของศาลแห่งนั้น เพราะในมาตรานี้ ให้ประชาชนจำง่าย ๆ คือ “ฟ้องและได้ตัว” มาอยู่ในอำนาจศาล หากพ้นกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 95 วรรคหนี่ง(1) ผลทางกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับเพราะเหตุคดีขาดอายุความ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (6) เป็นพื้นฐานข้อกฎหมายที่ประชาชนควรรจะรู้
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าหากย้อนเวลาจำกันได้ว่า กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เหตุการณ์เริ่มจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประท้วงที่ก่อความไม่สงบที่ถูกจับกุม 6 คน ต่อมารัฐได้ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วงและมีผู้เสียชีวิตระหว่างขนส่งผู้ต้องหาจำนวน 84 ศพ และสูญหายอีกจำนวนมากกว่า 60 คน
ขณะนั้นเกิดในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยพรรคไทยรักไทย ได้ออกคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนในเรื่องนี้โดยขณะนั้น ผู้รับผิดชอบในสถานการณ์โดยรวม คือ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ดำรงตำแหน่ง มทภ.4 เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เมื่อประกาศกฎอัยการศึก
ปัจจุบัน พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ล่าสุด เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ภายหลังผู้เสียหายฟ้องเอง และศาลมีคำสั่งคดีมีมูลและหมายเรียกให้จำเลยมาสอบคำให้การ หมายความว่า เมื่อคดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ตาม ป.วิอาญามาตรา 170 จำเลยกับพวกจะอุทธรณ์คำสั่งศาลไม่ได้ แต่มีหน้าที่มาศาล พล.ท.พิศาลกับพวก เป็นนกรู้ ว่าคดีที่โจทก์ฟ้องมีอายุความ 20 ปี จะขาดอายุความไม่กี่วัน อาศัยช่องทาง หลบหนีชั่วคราว เพื่อให้พ้นกำหนดระยะเวลาในวันที่ 25 ตุลา เพื่อนำช่องทางนี้ไปต่อสู้คดีได้
นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่าจะเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เอกสิทธิ์คุ้มครองสส.เฉพาะตกเป็นผู้ต้องหาและอยู่ระหว่างสมัยประชุม ไม่รวมถึงการตกเป็นจำเลย แม้ระหว่างสมัยประชุมก็ตาม ศาลย่อมออกหมายจับได้ โดย พล.ท.พิศาล ชิงลาออกจาก สส.เพื่อลดกระแสการเมือง เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลโดยตรง
“เห็นไหมครับจากคดีอาญาปกติ ลามเป็นคดีเกี่ยวข้องการเมืองไปโดยปริยาย เพราะบุคคลที่จะต้องรับผิดทางอาญา มานั่งเป็น สส.พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและคดีนี้ เกิดในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้น”
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่าส่วนเทคนิคนกรู้ หลีกเลี่ยงไม่มาศาล หรือหลบหนี ปล่อยให้เวลาเดินให้พ้นอายุความ นอกจากคดีขาดอายุความแล้ว หมายจับศาลจังหวัดนราธิวาสย่อมสิ้นผลไปโดยปริยาย เมื่อพ้นกำหนดวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ศาลจะยกฟ้องโจทก์ทันทีไม่ได้ ต้องรอวันนัด ศาลจะสอบถามโจทก์ว่า ติดตามตัวจำเลยทั้งหมดได้หรือไม่ โจทก์อาจขอจำหน่ายคดีชั่วคราว เมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว ยกคดีขึ้นมาพิจารณาคดีใหม่ก็ได้ ตรงนี้เป็นสิทธิ เพราะคดีขาดอายุความในชั้นศาลและคดีที่ราษฎรฟ้องเอง เป็นดุลพินิจของโจทก์ หากได้ตัวและยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ป.วิอาญามาตรา 174 บัญญัติให้ หน้าที่นำสืบคดีอาญาเป็นหน้าที่โจทก์ แต่จำเลยทั้งหลายในคดีนี้ นำช่องคดีขาดอายุความยกข้อต่อสู้ได้
“เห็นไหมว่า แม้ตำรวจได้ออกหมายค้นตัว ไม่พบจำเลยสักคน เผ่นออกช่องทางธรรมชาติไปหมดแล้ว แม้ไปออกหมายแดงในต่างประเทศ ก็ติดตามตัวไม่ทัน เพราะระยะเวลาเหลือสองวัน กฎหมายให้นับตั้งแต่วันที่ตัวจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลเท่านั้น”
ส่วนที่ถามว่า มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะออก พรก.ขยายอายุความในคดีตากใบ เป็นไปได้หรือไม่ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน อธิบายว่าอำนาจในการออกพระราชกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร ซึ่งเมื่อออกพระราชกำหนดมาใช้แล้ว ในช่วงเวลาหนึ่ง ต้องนำพรก.ฉบับดังกล่าวเข้าสู่สภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ของฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ต่อไปหรือไม่
แต่โดยหลักของรัฐธรรมนูญ ในการออกพระราชกำหนดต้องเป็นปัญหาจำเป็นเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ที่ฝ่ายบริหารหยิบพรก.มาใช้ในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่กระทบต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ ไม่ใช่เพื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ อายุความในคดีอาญา ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน หากขยายอายุความคดีตากใบ ตนมองว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาของประเทศ โดยรัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าเหตุใดรัฐไม่ได้นำตัวจำเลยมาฟ้องภายในอายุความ โดยเฉพาะจำเลยบางคน มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย ความผิดเกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อยู่ในอายุความของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ผู้เป็นบุตรสาว แต่ปล่อยให้ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า แม้ใน ป.วิอาญา มาตรา 31 เปิดช่องให้คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้ แต่ปัญหาเรื่องอายุความในมาตรา 95 เป็นระยะเวลาสิ้นสิทธิ หากพิจารณากฎหมายอาญามาตรา 96 ผู้เสียหายต้องใช้สิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษหรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรขยายอายุความคดีตากใบ แม้ในทางการเมือง จะเป็นกระแสถาโถมรัฐบาลก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น