ผู้นำการศึกษา เสนอ “6 จินตภาพใหม่” เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต แก่เยาวชนและประชากรวัยแรงงาน – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 “จินตภาพใหม่การศึกษา ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน” เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ซึ่งจัด โดย ยูเนสโก กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Eea) เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 260 คน ณ สถานที่จัดงาน ประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำเยาวชน พร้อมกับผู้เข้าร่วมอีกกว่า 3,000 คนผ่านทางออนไลน์ เพื่อเน้นโอกาสการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น การพัฒนาทักษะสำหรับทุกคน และความร่วมมือระดับนานาชาติ
นางมารีนา ปาทรีเย รองผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้แนวทางที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อสร้างระบบการเรียนรู้ที่มีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้นและทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยกล่าวว่า “ในโลกที่เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น” พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อเสนอแนะของครูในการพัฒนานโยบายที่เป็นนวัตกรรม
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกล่าวว่า “เราต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เรามีร่วมกัน” พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อวาระความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาค
การประชุมยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเยาวชน นางสาวนูรฮายาตี สุลตาน ผู้ก่อตั้งร่วมและผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเยาวชนและ ความรู้ด้านดิจิทัล เครือข่าย Rohingya Maìyafuìnor Collaborative Network ได้กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยถูกกันออกจากระบบการศึกษา และอยากขอเรียกร้องให้พวกเขามีสิทธิในการสามารถเข้าถึงการศึกษา นอกจากนี้ นางสาวนดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงความท้าทายเฉพาะที่เยาวชนจากชุมชนมุสลิมผู้ย้ายถิ่นและยากจนในจังหวัดปัตตานีเผชิญ โดยเสนอให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายการศึกษา สู่การหาทางออก
การรับฟังมุมมองของเยาวชนได้สะท้อนในคำกล่าวของ นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ซึ่งได้สรุปถึงนโยบายที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้ทางดิจิทัลที่ครอบคลุม การลงทุนในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิต การศึกษาที่เน้นทักษะ และการเสริมความเข้มแข็งให้กับการอบรมพัฒนาครู
หัวข้ออื่น ๆ ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนในที่ประชุม ได้แก่ ความสำคัญของการเรียนรู้โดยมีนวัตกรรมตัวแบบและมีความยืดหยุ่น การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เท่าเทียมและทั่วถึงมากขึ้น และการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาจากท้องถิ่นและการพัฒนาที่ยั่งยืน