“ชาญชัย” กางหลักฐาน ดอนเมืองโทลล์เวย์ ผิดสัญญา ขึ้นค่าผ่านทางไม่ได้ เตรียมฟ้องศาลเอาผิด
ข่าวที่น่าสนใจ
3 พ.ย.2567 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ตนเคยแถลงไปก่อนหน้านี้ว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ควรขึ้นราคาค่าผ่านทางเพราะสัญญาที่ทำกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมควรต้องถูกยกเลิก จะเก็บค่าผ่านทางไม่ได้แล้วนั้นว่า เรื่องนี้มีที่มา และมีสาเหตุสืบเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเป็นเรื่องการทำผิดสัญญาในข้อตกลงกับรัฐบาลไทย โดยในปี 2549 ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี บริษัททางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ (DMT) เป็นบริษัทผู้รับสัมปทานสร้างดอนเมืองโทลเวย์ ได้ขอแก้ไขสัญญากับรัฐ โดยอ้างว่า รัฐได้ทำผิดสัญญาในการย้ายสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ และมีเหตุผลอีก 9 ข้อ ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบขาดทุน จึงร้องขอให้มีการขยายเวลาสัมปทานในการเก็บค่าผ่านทางเพิ่มอีก 27 ปี ในวันที่ 12 กันยายน 2550 และก่อนที่กระทรวงคมนาคมในขณะนั้นจะดำเนินการต่อสัญญาให้ บริษัทวอเตอร์ บราวน์ หรือ บริษัท Water Bau AG (WBAG) สัญชาติเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทที่ DMT ว่าจ้างให้เป็นผู้สร้างทางยกระดับดอนเมืองฯ แต่เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ กลับไม่มีเงินจ่ายให้ จึงให้บริษัท WBAG ถือหุ้นบางส่วนในบริษัท DMT ทำให้บริษัท WBAG กลายเป็นหุ้นส่วนของ DMT และถือว่าบริษัท WBAG ได้กลายเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลไทยไปในตัวด้วย และทำให้ทั้งสองบริษัทได้ร่วมกันฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จนเวลาล่วงมาถึงปี 2554 เป็นเหตุให้มีการยึดเครื่องบินพระที่นั่ง ในเดือนกรกฎาคม 2554
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุยึดเครื่องบินพระที่นั่ง บริษัททางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ (DMT) เคยไปขอเยียวยาจากรัฐบาลไทย โดยให้โอกาสบริษัท DMT แก้ไขสัญญา ด้วยการให้ต่อสัญญาสัมปทานเพิ่มอีก 27 ปี และสามารถขึ้นค่าผ่านทางได้เองทุก ๆ 5 ปี จากเดิมค่าผ่านทาง 40 บาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 115 บาท และจะเพิ่มอีก 130 บาทต่อคัน ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนไม่เห็นด้วย และต้องการชี้แจงให้พี่น้องประชาชนคนไทยทราบว่า สัญญาฉบับนี้เป็นโมฆะมานานแล้ว เพราะในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง วันที่ 21 สิงหาคม 2532 ฉบับที่ 3/2550 วันที่ 12 กันยายน 2550 (เอกสารประกอบ 1) ระหว่างกรมทางหลวงกับบริษัท DMT ข้อที่ 6 ระบุชัดเจนว่า เมื่อรัฐบาลไทยเยียวยาในเหตุผล 9 ข้อที่ บริษัท DMT ยื่นท้วงมา โดยรัฐต่อสัญญาสัมปทานให้เพิ่มอีก 27 ปี ในวรรคท้ายของข้อที่ 6 (เอกสารประกอบ 2) ระบุชัดเจนว่า ถ้ามีการลงนามต่อขยายสัญญาให้แล้ว บริษัท DMT ต้องดำเนินการถอนคำฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศต่อรัฐบาลไทย หรือคำฟ้องร้องในศาลใด ๆ ก็แล้วแต่ ต้องถอนคำฟ้องทั้งหมดภายใน 30 วัน หลังการลงนามต่อขยายสัญญาให้เก็บค่าผ่านทางได้อีก 27 ปี หากไม่ถอนคำฟ้องให้ถือว่า กรมทางหลวงมีสิทธิ์ยกเลิกข้อตกลงฉบับนี้ได้
“สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่ผมจะโหลดลงในสื่อออนไลน์เพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป“
ประเด็นที่มีความสลับซับซ้อนที่มีความฉ้อฉลเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ หลังจากวันที่ 3 ธันวาคม 2549 ทั้งสองบริษัท คือ บริษัท DMT และบริษัท WBAG ได้ทำสัญญาลับระหว่างกัน (ตามเอกสารประกอบ 3 ประทับตรา “ลับที่สุด” 3 ธันวาคม 2549) ว่า จะไปฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยบริษัท DMT ต้องจ่ายเงิน 50% ในการให้บริษัท
WBAG เป็นผู้ฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ อีกทั้งในสัญญานี้ระบุด้วยว่า ถ้ามีการต่ออายุสัมปทานไปอีก 27 ปี ที่อยู่ในข้อที่ 6 และข้อที่ 9 บริษัท DMT ต้องจ่ายเงินให้บริษัท WBAG อีกปีละ 5แสนยูโรในแต่ละปีที่ได้รับต่อสัมปทาน (เอกสารประกอบ 4 ประทับตราลับที่สุด ขีดไฮไลท์สีชมพู ข้อ9)
“นี่เป็นหลักฐาน ชี้ให้เห็นถึงการวางแผนของ 2 บริษัทเอกชน คู่สัญญาตั้งแต่เริ่มแรก ก่อนที่จะทำเรื่องร้องขอต่อสัญญาขยายสัมปทานกับรัฐบาลไทย ดอนเมือง แม้ต่อสัญญาขยายเวลาเก็บค่าผ่านทางให้แล้ว ก็ยังไม่ถอนคำร้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโต ฯ ไม่ทำแล้ว ยังมาเสนอขอให้กระทรวงการคมนาคมโดยบอกว่า บริษัท DMT ซื้อหุ้นคืนจาก บริษัท WBAG ของเยอรมันหมดแล้ว ถ้าจะขอให้ไปเคลียร์คดี ทางบริษัท DMT มาขอค่าเคลียร์คดีกับทางกระทรวงคมนาคม อีก 500 ล้านบาท (เอกสาร ประกอบ 5 วันที่ 21 ตุลาคม 2551 ขีดไฮไลท์สีชมพู) ทั้งที่กระทรวงการคลังที่เป็นตัวแทนรัฐ ก็ถือหุ้นในบริษัท DMT อีกด้วย อยู่ในเอกสารที่กระทรวงคมนาคมส่งมาให้ผมในขณะที่เป็น สส. และเป็นรองประธาน กมธ.ปปช. สภาฯ ที่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้”
นอกจากนี้ มีข้อความปรากฏในเอกสารลับ ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2549 ระหว่างนายสมบัติ พานิชชีวะ บริษัทดอนเมืองโทลเวย์ ร่วมกับบริษัท WBAG ร่วมกันช่วยเหลือดำเนินคดีให้เกิดเป็นปัญหา ถือว่านายสมบัติได้แจ้งให้บริษัท WBAG ถอนเรื่องที่ร้องต่ออนุญาโตฯ แล้วไม่ทำ ถือว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิด ฉ้อฉลต่อรัฐบาลไทยหรือไม่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ตนต้องเรียนต่อพี่น้องประชาชนว่าเป็นการทำผิดสัญญาแน่นอน ทั้งหมดนี้เป็นเอกสารราชการที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องส่งมาให้ตน และก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก
“กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรี ยังไม่แก้ปัญหานี้ และทิ้งปัญหานี้ให้ประชาชนต้องเดือดร้อน ต้องให้ประชาชนมาชดใช้เวรกรรมที่พวกคุณทำไว้ ต้องให้พี่น้องประชาชนต้องมาเสียค่าผ่านทางกับบริษัทแห่งนี้ เครื่องบินพระที่นั่งต้องถูกยึดแม้จะมีการไถ่คืนมาแล้ว ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชน เมื่อขึ้นทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์จะได้ใบเสร็จอย่างนี้ ก็ขอให้เก็บไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจก่อนในข้อหาทำผิด มาตรา 3 (3) ของกฎหมายการฟอกเงิน ฐานหลอกลวงประชาชน เพราะสัญญาฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว หลังจากนี้ผมจะบอกว่าจะใช้หลักฐานนี้ไปฟ้องร้องต่อศาลใด ผมจะเป็นคนนำไปฟ้องต่อศาลให้เป็นคดีตัวอย่าง ขอให้พี่น้องประชาชนเก็บบัตรค่าผ่านทางไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น เพราะถือว่าผู้ที่ขึ้นใช้ผ่านทางนี้เป็นผู้เสียหายถูกหลอกลวงได้โดยตรง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น