กต.แจงยิบปมพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลั่น MOU44 ไม่ใช่ปีศาจ ไม่ทำให้ไทยสูญเสีย “เกาะกูด”

กต.แจงยิบปมพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลั่น MOU44 ไม่ใช่ปีศาจ ไม่ทำให้ไทยสูญเสียเกาะกูด

Top news รายงาน วันนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้แถลงชี้แจงประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา และเอ็มโอยู 44

โดยนางสุพรรณวษา กล่าวว่า พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน หรือ overlapping claims areas หรือที่เรียกสั้นๆว่า OCA เกิดจากการที่มีการประกาศเขตไหล่ทวีป รวมถึงการประกาศทะเลอาณาเขต ซึ่งในเส้นเดียวกันกัมพูชาได้ประกาศในปี พ.ศ.2515 ถัดมาในปี พ.ศ.2516 ไทยเห็นว่าการประกาศของกัมพูชาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะมีเส้นที่ผ่านเข้าไปตรงเกาะกูด เราจึงประกาศเขตไหล่ทวีปของเรา ซึ่งในการประกาศของทั้งกัมพูชาและไทย จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนกันทั้งหมด 26,000 ตารางกิโลเมตร สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ซึ่งเมื่อยิ่งห่างไกลออกจากตัวดินแดนไปเรื่อยๆ เช่น ไหล่ทวีป กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้บอกว่าให้ใช้วิธีไหน บอกเพียงให้ไปตกลงกัน เพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม โดยหลักการสากลเมื่อเกิดพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน วิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การไปเจรจา และกรมสนธิสัญญาและกฎหมายใช้มาตลอด และประสบความสำเร็จในการเจรจากับเวียดนามและมาเลเซียบางส่วน ทั้งนี้ทุกประเทศมีสิทธิที่จะประกาศอาณาเขตทางทะเล แต่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และการประกาศนั้นย่อมผูกพันเฉพาะแค่ประเทศที่ประกาศ ดังนั้นเราไม่ได้ไปยอมรับเส้นอะไรของกัมพูชา

 

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ส่วนประเด็นเอ็มโอยู 44 นั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบายสาระสำคัญว่า เอ็มโอยู 44 ช่วยเราในหลายประเด็น โดยมี 2 ประเด็นหลักคือ 1.กำหนดกรอบในการพูดคุยและสร้างกลไกลในการเจรจา ซึ่งก็คือองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยกรอบการเจรจาได้แบ่งพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร ออกเป็น 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่ที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่คุยเรื่องแบ่งเขตทางทะเล ส่วนพื้นที่ที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ให้คุยเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และมีเงื่อนไขว่า สองเรื่องนี้ต้องคุยไปพร้อมกัน ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ ส่วนกลไกลในการเจรจา ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ Joint Technical Committee หรือ JTC ไทยและกัมพูชา ซึ่งเอ็มโอยู 44 เป็นวิธีเดียวที่ ณ ตอนนี้ ที่เรามีอยู่ ที่จะสามารถบรรลุผลประโยชน์สูงสุดของประเทศได้

 

นางสุพรรณวษา กล่าวอีกว่า ทางกัมพูชาก็เห็นว่าเอ็มโอยู 44 เป็นพื้นฐานที่ดี สามารถดำเนินการเจรจาต่อไป และทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องเสนอองค์ประกอบคณะต่างๆเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และเราได้เสนอองค์ประกอบของJTCใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แล้ว รอวันครม.อนุมัติ เมื่อครม.อนุมัติองค์ประกอบเราก็จะจัดการประชุมฝ่ายไทย และทาบทามกัมพูชาให้มีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับไทย เมื่อเราเซ็ตองค์ประกอบเสร็จสิ้นก็พร้อมเปิดการเจรจาต่อไปในอนาคตเร็วๆนี้

 

อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยืนยันด้วยว่า หลักการที่กระทรวงการต่างประเทศใช้ในการเจรจา ประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องยอมรับในข้อตกลงนี้ได้ และผลที่ได้จากการเจรจา ก็ต้องสามารถเห็นชอบโดยรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดข้อตกลงที่จะได้ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังยืนยันว่าเอ็มโอยู 44 ไม่ทำให้ไทยสูญเสียเกาะกูด เพราะสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 ระบุชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย ซึ่งตัวนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือตัวเกาะ และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราก็ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด 100%

 

 

เมื่อถามว่า เอ็มโอยู 44 ขัดกับพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปหรือไม่ นางสุพรรณวษา ชี้แจงว่า การดำเนินการตามเอ็มโอยู 44 สอดคล้องกับข้อความที่อยู่ในพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีป เพราะได้ระบุไว้ว่า แผนที่จุดต่างๆที่กำหนดพิกัด ภูมิศาสตร์ เป็นเพียงแสดงแนวทางทั่วไปของเส้นที่กำหนดเขตไหล่ทวีป ซึ่งเราใช้พื้นฐานของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีปปี ค.ศ.1958 ในการประกาศพระบรมราชโองการตรงนี้ แต่ทั้งนี้สิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรที่จะสำรวจและแสวงหาผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเล ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประกาศทับซ้อนพื้นที่ตรงนี้ อีกทั้งเนื้อหาของพระบรมราชโองการประกาศนี้ ก็เข้าใจถึงหลักการกฏหมายระหว่างประเทศ ที่บอกว่าทุกประเทศมีสิทธิที่จะประกาศฝ่ายเดียว แต่ก็ผูกพันแค่ประเทศที่ประกาศ เมื่อเกิดการทับซ้อน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปเจรจา ซึ่งเอ็มโอยู 44 มีเจตนารมณ์เพื่อที่จะบอกว่า เป็นความตกลงเพื่อให้ไปคุยเจรจา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดไว้ในตัวกฎหมายไทย

 

เมื่อถามว่าเอ็มโอยู 44 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่ นางสุพรรณวษา ย้ำว่า ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ที่จะเคลม แต่จะผูกพันเฉพาะประเทศที่เคลม ไม่ได้มีผลในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศที่จะสร้างพันธกรณีตรงนี้ แต่แน่นอนมันเกิดข้อพิพาท สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือต้องไปเจรจา ฉะนั้นเอ็มโอยูไม่ใช่ตัวร้าย หรือปีศาจร้ายที่จะมาสร้างพันธอะไรให้เรา อีกทั้งได้ระบุในเอ็มโอยูข้อ 5 ที่มีข้อความว่า บันทึกความเข้าใจนี้ และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกความเข้าใจนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา ย้ำว่าเอ็มโอยู 44 สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุว่าเมื่อเกิดข้อพิพาท แต่ละประเทศก็ไปคุยกัน ดังนั้นเส้นของเรายังอยู่ ไม่ต้องห่วงประเด็นนี้ ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาแต่อย่างใด

 

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเห็นว่าเอ็มโอยู 44 ทำให้ไทยเสียเปรียบ อยากให้ยกเลิก และครม.ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 ได้มีมติให้ยกเลิกแล้ว เหตุใดเราถึงไม่ยกเลิก และรัฐบาลปัจจุบันยังใช้เอ็มโอยู 44 ในการเจรจากับกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ชี้แจงว่า ช่วงปี 2552 เป็นช่วงที่ไทยมีความสัมพันธ์กับกัมพูชาค่อนข้างท้าท้ายอยู่หลายประเด็น การเจรจาในช่วงนั้นจึงลุ่มๆดอนๆ ซึ่งการเจรจาเรื่องเขตแดนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ และการเจรจาเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องค่อนข้างเทคนิคและเกี่ยวข้องกับความรักชาติพอสมควร มันเลยเกิดปัญหาในช่วงนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยูให้ ครม.พิจารณา เพราะเมื่อไม่มีความคืบหน้า เอ็มโอยูก็ไม่มีความจำเป็น ซึ่งครม.รับในหลักการ แต่ก็บอกว่าให้ไปพิจารณาให้รอบคอบในแง่กฏหมาย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็ดำเนินการตามนั้น จึงหารือทีมที่ปรึกษาต่างชาติ รวมถึงประชุมคณะกรรมการพิเศษที่พิจารณาเรื่องอนุสัญญาต่างๆ และปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงพลังงาน กฤษฏีกา แล้วก็ได้ข้อสรุป โดยในปี 2557 เราเห็นว่าเอ็มโอยู 44 ยังคงมีประโยชน์ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย นำไปสู่การเจรจาที่เป็นผลสำเร็จได้ จึงเสนอกลับเข้าไปยังที่ประชุมครม.ในปี 2557 ให้ทบทวนมติครม.ปี 2552 และหลังจากปี 2557 ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ เราก็จะเสนอทุกรัฐบาลว่าให้ใช้กรอบการเจรจาเอ็มโอยู 44 เป็นพื้นฐานน่าจะเหมาะสมที่สุด และเป็นที่ยอมรับของกัมพูชาด้วย และทุกรัฐบาลก็ยอมรับว่าน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

 

 

เมื่อถามถึงกรณีเขื่อนกันคลื่นของกัมพูชา อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงก็คือว่า มีเอกชนของกัมพูชาไปสร้างเป็นท่าเรือ ซึ่งออกมาจากโรงแรมเกาะกง สร้างตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นลักษณะการถามดินเข้าไปในทะเลประมาณ 100 เมตร เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบข้อมูล เราก็ทำการประท้วงทันทีและดำเนินการทั้งหมด 3 ครั้ง ปี 2541 ปี 2544 และปี 2564 ซึ่งทำให้เอกชนหยุดการก่อสร้าง แต่ก็มีบางส่วนที่กินเข้ามาในพื้นที่เส้นที่เราเคลม เราจึงต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตยบริเวณนั้นก่อน อีกทั้งกระทรวง กองทัพเรือ และสมช.ก็ติดตามอยู่ว่าจะเจรจาต่อไป และยกประเด็นนี้หารือในกรอบอื่นๆที่เรามีกับกัมพูชาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เคาะวันแล้ว กกต. เปิดแผนงานเลือกตั้งนายก-สมาชิกอบจ.
"เคนโด้" นำ "กลุ่มผู้เสียหาย" ค้านประกันตัว "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์" หวั่นคุกคามเหยื่อ
วัดพิบูลสัณหธรรม เตรียมจัดงานวันลอยกระทงเพื่อสมทบทุนบูรณะต่อเติมศาลาการเปรียญให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้ประโยชน์ ในการประกอบศาสนกิจของวัด ใช้ประกอบพิธีในพระพุทธศาสนา
ชื่นชม หนุ่มใหญ่จิตอาสาชาวชะอำ จ.เพชรบุรี เดินลุยฝนเก็บขยะอุดตันตามท่อ เพื่อช่วยระบายน้ำท่วม
สุดเสียวกลางดึกช้างป่าบุกใจกลางชุมชนบ้านเกาะลอยซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โฉบบ้านนักข่าวก่อนเข้าพังรั้วค่ายทหารพรานที่1306 เสียหาย ทำชาวบ้านผวาหวั่นอันตราย
หมูเด้ง เสี่ยงทายเลือกตั้งสหรัฐฯ ประธานาธิบดีอเมริกาคนต่อไป คือคนนี้ รอลุ้นจะใช่หรือไม่
"ทนายสมชาติ" พา "เจ๊อ้อย" เข้าให้ปากคำ "ตำรวจกองปราบฯ" เพิ่ม ปมเงิน 71 ล้านบาท
“ทนายตั้ม” โผล่พบตํารวจกองปราบฯ ชี้แจงปมเงิน 71 ล้านบาท
"ภูมิธรรม" มอง MOU44 กลไกที่ดีที่สุด ก่อนย้อน พปชร.ไปถาม "บิ๊กป้อม" เคยนำเจรจากัมพูชา ก่อนมาคัดค้าน
"ก.แรงงาน" เตรียมเปิดขึ้นทะเบียน "แรงงานต่างด้าว" รอบใหม่

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น