“กษิต” แจงยิบสาเหตุ รบ.อภิสิทธิ์ยกเลิก MOU 44 แต่ไม่สำเร็จ หนุนเจรจาต่อ ยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก
ข่าวที่น่าสนใจ
5 พ.ย.2567 นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวท็อปนิวส์ถึงกรณียกเลิกเอ็มโอยู 44 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่า เพราะสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น ได้แต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นที่ปรึกษา เป็นการแสดงออกซึ่งไม่เป็นมิตร แล้วก็แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจของรัฐบาลไทย โดยนายอภิสิทธิ์ จึงได้ประกาศยกเลิกเอ็มโอยู 44 ด้วยการนำเรื่องเข้าครม. แล้วครม.มีมติ จากนั้นเป็นเรื่องของหน่วยข้าราชการประจำ
โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องไปดูในรายละเอียดว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น จะต้องไปแจ้งสภา และแจ้งไปทางฝ่ายกัมพูชาให้ทราบ แต่เรื่องอยู่ในระหว่างการดำเนินการ จากนั้นเราก็พ้นจากรัฐบาลไปแล้วคือการยุบสภา
นายกษิต กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเป็นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ และ รัฐบาลนายเศรษฐาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่เมื่อช่วงปี 57 ก็ได้ยืนยัน โดยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ที่ยังจะคงไว้ซึ่งเอ็มโอยู44 ก็เท่ากับก็ว่าเป็นการยกเลิกมติครม.ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แล้วรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ได้แต่งตั้งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย แล้วก็ต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้ เท่ากับว่าเอ็มโอยูก็ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเอ็มโอยู 44 ไม่มีการยกเลิกแล้ว และทางกระทรวงต่างประเทศกำลังเตรียมเรื่องนี้ เพื่อจะเสนอ ครม. เพื่อให้ลงมติแต่งตั้งว่าใครจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ
ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ถ้าเกิดเราไม่เจรจาเรื่องเขตแดนก่อน นายกษิต กล่าวว่า เรามีเอ็มโอยู เพื่อจะเจรจาเขตแดนกับการสำรวจทรัพยากรทางธรรมชาติ ก็ต้องเจรจากันต่อไป และยังไม่ได้เริ่มเจรจา ก็อย่าไปเดาความว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร ที่วิพากษ์วิจารณ์กันก็ไม่ถูกต้อง ส่วนที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ยกเลิกเอ็มโอยู44 นั้น ตนคิดว่านายภูมิธรรมต้องไปอ่านมติ ครม.ใหม่ ศึกษาเรื่องราวให้ดี
ในฐานะที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน มีข้อแนะนำสำหรับรัฐบาลปัจจุบันอย่างไร นายกษิต กล่าวว่า ตนคิดว่าเราทุกคนก็ต้องรักชาติ ต้องเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นตัวตั้ง ทุกคนต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามา แล้วก็ปล่อยให้คณะผู้แทนเจรจาไป แต่อย่าให้มีนัยยะของการเมือง และผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซง กลุ่มนี้ต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ปล่อยให้คณะผู้แทนไทยเจรจาต่อไป และผลการเจรจาก็แน่นอน ก่อนไปเจรจาก็คงต้องให้รัฐสภารับทราบ ให้ความเห็นชอบประกอบการเจรจา เมื่อผลการเจรจาคืบหน้าเป็นระยะๆ ก็ต้องกลับมารายงานที่รัฐสภา ในฐานะที่เป็นสังคมประชาธิปไตย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น