วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้การอำนวยการของ นาย อำนวย เกษตรสินธุ์นุกูล นายอำเภอท่าตะเกียบ นายกัญจน์นธัช วินนิวรรธน์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง นำกำลัง อส.อ.ท่าตะเกียบ ร่วมกับนายเถลิงศักดิ์ เข็มมลฑา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 13 บ้านคลองตะเคียน ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ผอ.รร.สียัดพัฒนา ลงพื้นที่บูรณาการทำงานร่วมกับ ผู้ใหญ่ประพันธ์ หนูดำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 บ้านร่มโพธิ์ทอง ในการติดตั้งเครื่องนวัตกรรมประดิษฐ์รั้วไฟฟ้าแรงต่ำ 12 โวลท์ ภูมิปัญญาชาวบ้านป้องกันช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรในแปลงนาข้าวสาธิต ที่ปลูกไว้เป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนของโรงเรียนสียัดพัฒนา
ด้านนาย อำนวย เกษตรสินธุ์นุกูล นายอำเภอท่าตะเกียบ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เครื่องนวัตกรรมนี้ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว มาดัดแปลงเข้ากับระบบแผงโซล่าเซล สร้างจุดกำเนิดไฟฟ้าประหยัดพลังงานที่ไม่ต้องไปใช้แบตเตอรี่รถยนต์ที่หนัก แล้วนำสายไฟฟ้าเชื่อมต่อกับแนวรั้วลวดสำหรับกันวัว ควาย โดยปล่อยกระแสไฟฟให้ช้างพอได้สะดุ้ง เพียง 12 โวลต์ ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ แถมประหยัดเงิน และดีกว่าไปใช้ระเบิดปิงปอง ประทัด ในการจุดไล่ช้าง ที่นับวันช้างก็เริ่มที่จะไม่กลัวเสียงประทัดแล้ว ส่วนเครื่องโซล่าเซลนวัตกรรมนำเชื่อมประดิษฐ์รั้วไฟฟ้านี้ ต้นทุนไม่สูง ชาวบ้านเกษตรกรดัดแปลงได้ง่าย
นายอำเภอฯ ยังบอกว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว หลายพื้นที่ของอำเภอท่าตะเกียบ นาข้าวเริ่มตั้งท้อง มีกลิ่นหอม ใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว ช้างป่าจะออกมาหากิน ทั้งกลางวัน กลางคืน เครื่องนี้ฯ ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของชาวบ้าน ในการเฝ้าระวังช้างทำลาย
สำหรับแปลงนาข้าวสาธิต ที่ปลูกไว้เป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนของโรงเรียนสียัดพัฒนา มีเนื้อที่ทั้งหมด 8 ไร่ ซึ่งอีกประมาณ 1 อาทิตย์ จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนำมาเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน จึงมอบหมายให้ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองอำเภอท่าตะเกียบ ร่วมกับชุดอาสาเฝ้าระวังช้างป่าบ้านคลองตะเคียน เฝ้าระวังแปลงนาข้าวดังกล่าวไม่ให้ช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร พร้อมขยายผลต่อยอดดำเนินการติดตั้งนวัตกรรมป้องกันช้างป่าในส่วนนาข้าวในพื้นที่เสี่ยง เช่น บ้านศรีเจริญทอง บ้านอ่างเตย ฯลฯ ต่อไป