หลังจากเมืองดิ๊กซ์วีล นอตช์ รัฐนิวแฮมเชอร์ ซึ่งเป็นเมืองแรกที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเวลาเที่ยงคืน จากนั้นก็ตามด้วยรัฐเวอร์มอนต์ที่เปิดหน่วยเลือกตั้งในเวลา 5 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ตามด้วยรัฐต่างๆที่อยู่ชายฝั่งตะวันออกที่เปิดหีบในเวลา 6 นาฬิกา รวมทั้งคอนเน็กติกัต, อินเดียน่า, เคนตั๊กกี, เมน, นิวยอร์ก, นิวเจอร์ซี, เวอร์จิเนีย, นอร์ธ แคโรไลน่าและจอร์เจีย โดยนิวยอร์กถือเป็นรัฐสำคัญและมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุดในกลุ่มรัฐชายฝั่งตะวันออกคือ 28 คน ส่วนเมนน้อยที่สุด 4 คน
ขณะที่ชาวอเมริกันที่นครนิวยอร์ก ก็เริ่มทยอยเดินทางมาเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งกันอย่างคึกคักตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วยเลือกตั้ง จากนั้นรัฐในแถบมิดเวสต์หรือตอนกลางประเทศก็จะเริ่มทยอยเปิดหีบตามลำดับไล่ตามเวลาไทม์โซน ต่อเนื่องไปจนถึงฝั่งตะวันตก เนื่องจากอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ และมีการแบ่งไทม์โซนที่ไม่เท่ากัน โดยรัฐแอแลสก้าและฮาวายจะเป็นสองรัฐสุดท้ายจากทั้งสิ้น 50 รัฐ ที่เปิดและปิดหีบ เนื่องจากเป็นเกาะอยู่นอกชายฝั่งตะวันตก
อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรงแต่จะเป็นการเลือกตั้งคณะผู้แทนของแต่ละรัฐ ซึ่งมีจำนวนแตกต่างกันตามจำนวนประชากรของรัฐ แต่เมื่อนับรวมกันทั้ง 50 รัฐบวกกับกรุงวอชิงตันจะได้ 538 คะแนน และผู้ที่ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปจะต้องคว้าให้ได้ก่อน 270 คะแนน แต่เนื่องจากรัฐส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของเดโมแครตหรือริพับลิกัน ก็อาจเดาได้ไม่ยากนัก จึงต้องมาลุ้นกันที่ 7 รัฐสวิงสเตทหรือรัฐสมรภูมิประกอบด้วยรัฐเพนซิลเวเนีย, มิชิแกน, วิสคอนซิน, นอร์ธ แคโรไลน่า, จอร์เจีย, แอริโซน่าและเนวาดา ที่คาดว่าจะเป็นตัวชี้ชะตา เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของรัฐเหล่านี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรืออาจเปลี่ยนใจได้ขึ้นอยู่กับนโยบายหรือเงื่อนไขอื่นๆ