กทม.หมดเวลายื้อ”ศาลปกครองสูงสุด”ยกคำร้องขอรื้อคดีหนี้ BTS “ชัชชาติ” ยื่นสภาฯ 12 พ.ย. ขออนุมัติงบฯ
ยังเป็นประเด็นร้อน สำหรับปัญหาการค้างชำระหนี้ สำหรับค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) และ ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ)
ภายหลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับกรุงเทพมหานคร กับ บริษัทกรุงเทพธนาคม โดยกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดี ร่วมกันจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199,091,830.27 บาท
และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท
โดยมูลหนี้ดังกล่าว จะต้องจ่ายพร้อมอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาท บวกร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ จนถึงวันนี้ ( 6 พ.ย.2567) หรือ นับจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้ กทม.และ บริษัทกรุงเทพธนาคม ดำเนินการจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าสีเขียว เฉพาะมูลหนี้ก้อนแรก ผ่านมาแล้ว 103 วัน ทางกทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม ยังไม่ดำเนินการชำระหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC แต่อย่างใด
ทั้ง ๆ ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และ คณะผู้บริหาร มีคำยืนยันมาโดยตลอด ว่า พร้อมจะเร่งดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากความล่าช้าในการจ่ายหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ส่งผลกระทบต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน
โดยจากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พบว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 67 ในการประชุมสภากทม. ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. อ้างว่าได้รับข้อมูล กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจ้างเดินรถและซ่อมบํารุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1