ภาพการจับมือและทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มของทั้งคู่ ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความเป็นสุภาพบุรุษประชาธิปไตยต่อคู่แข่ง ที่ปฏิเสธทำแบบเดียวกันนี้ หลังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง
ไบเดน วัย 81 กล่าวว่า “เราตั้งตารอที่จะให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น อย่างที่ได้เคยกล่าวไป ว่าจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้คุณรู้สึกว่า ได้รับความสะดวก และได้รับในสิ่งที่ต้องการ เราจะมีโอกาสพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนั้นในวันนี้ ยินดีต้อนรับกลับมาอีกครั้งหนึ่ง”
ขณะที่ ทรัมป์ ตอบกลับว่า “การเมืองเป็นเรื่องยาก หลาย ๆ ครั้ง มันไม่ใช่โลกที่สวยงาม แต่มันเป็นโลกที่สวยงามในวันนี้ ผมขอบคุณมากที่จะเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น มันจะราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมขอบคุณกับเรื่องนั้นมาก โจ”
ทั้งสองนั่งเคียงข้างกันให้นักข่าวได้ถ่ายภาพ ก่อนพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว บุคคลอื่นที่อยู่ในห้องขณะทั้งสองสนทนากัน มีเพียง เจฟฟ์ เซียนตส์ หัวหน้าคณะทำงานของไบเดน กับ ซูซี่ ไวลส์ ว่าที่หัวหน้าคณะทำงานของทรัมป์
แครีน ฌอง ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงหลังจากนั้นว่า การพูดคุยกินเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง และเป็นไปอย่างอบอุ่นและสุภาพอย่างมาก ทรัมป์มาพร้อมกับคำถามชุดหนึ่ง ทั้งสองหารือกันเรื่องยูเครน และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของว่าที่รัฐบาลทรัมป์ ตลอดจนประเด็นปัญหาต่างๆในประเทศ
ด้าน เจ้ค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า ทรัมป์แคลงใจเรื่องการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯแก่ยูเครน แต่ไบเดนย้ำความสำคัญที่จะต้องยืนหยัดเคียงข้างยูเครน ต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เพราะความมั่นคงและเเข็งเเกร่งในยุโรปจะสามารถปกป้องไม่ให้สหรัฐฯ ถูกดึงเข้าไปอยู่ในสงคราม
ทั้งนี้ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน จะพบปะกับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ หลังสิ้นสุดการเลือกตั้ง แต่ทรัมป์ปฏิเสธเปิดทำเนียบขาวต้อนรับไบเดนเมื่อ 4 ปีก่อน และปลุกเร้าผู้สนับสนุนจนนำไปสู่การก่อม็อบบุกอาคารรัฐสภา เพื่อล้มผลเลือกตั้ง เมื่อ 6 มกราคม 2564 ทั้งยังไม่ไปร่วมพิธีสาบานตนของไบเดน
การพบปะกันครั้งนี้ เมลาเนีย ทรัมป์ ไม่ได้เดินทางมาด้วย ซึ่ง จิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ได้มอบจดหมายที่เขียนด้วยลายมือให้กับทรัมป์ เพื่อแสดงความยินดีกับว่าที่สตรีหมายเลขหนึ่งคนต่อไป
กำหนดการหลังจากนี้ คือในวันที่ 17 ธันวาคม คณะผู้เลือกตั้ง 538 เสียงที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 5 พฤศจิกายน จะประชุมกันในเมืองหลวงของแต่ละรัฐ กับ ดิสตริก ออฟ โคลัมเบีย เพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ จากนั้น ในวันที่ 6 มกราคม รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง จะเป็นประธานการนับคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง ในที่ประชุมร่วมของสภาคองเกรส ก่อนประกาศรับรองชัยชนะของทรัมป์อย่างเป็นทางการ
20 มกราคม ไบเดนและแฮร์ริส จะออกจากทำเนียบขาว ส่วนทรัมป์ จะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ