หนังสือพิมพ์ เซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ รายงานเรื่องนี้ไว้บนเวบไซต์ว่า เปา (Pau) สตรีข้ามเพศชาวไทย ชื่อจริง ธนากร ( Thanakorn Sinsanoi ) อายุ 33 ปี ถูกจำคุกมาตั้งแต่ปี 2556 หลังจากเดินทางเข้าไปในมาเลเซีย และถูกตรวจพบ แมตแอมเฟตามีน หรือ ยาไอซ์ 1.3 กิโลกรัม ในกระเป๋าเดินทาง ซึ่งเธออ้างว่าเพื่อนเป็นคนใส่ไว้ในกระเป๋า เธอถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต ก่อนลดโทษเป็นจำคุก 30 ปีเมื่อปีที่แล้ว หลังจากมาเลเซียยกเลิกโทษประหาร
เปาป่วยเป็นวัณโรคสองครั้ง ส่งผลให้เป็นอัมพาตทั้งตัว ตั้งแต่คอลงมา เธอไปขึ้นในศาลในสภาพที่ถูกเข็นไปบนเตียงโรงพยาบาล
ฮายัต (Hayat) กลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ทนายขอให้ศาลปราณี เพราะปัญหาสุขภาพ แต่ศาลระบุว่า ไม่สามารถลดหย่อนโทษมากไปกว่านี้ เพราะ 30 ปี คือโทษต่ำสุดที่กฎหมายอนุญาตให้ลดได้ ทางกลุ่มจึงจัดทำคำร้อง ให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อถวายสุลต่าน ซารา-ฟุดดิน อิ-ดริส ชาห์ แห่งรัฐสลังงอร์ ให้พระราชทานอภัยโทษ เนื่องจากเธอกระทำความผิดในรัฐนี้ เนื้อหาในคำร้องเน้นย้ำว่า การป่วยวัณโรคสองครั้งในเรือนจำ จนทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว ทำให้เปาไม่สามารถเป็นภัยสังคมอีกต่อไป สมควรได้รับโอกาสมีชีวิตอยู่และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ มาเลเซียไม่ยอมนับอัตลักษณ์ข้ามเพศ ทำให้เธออยู่ในเรือนจำชาย ต้องพึ่งพาเพื่อนนักโทษชายในการดูแลแต่ละวัน
ชะตากรรมของผู้ต้องขังชาวไทยได้รับความสนใจ หลังจากที่นำไปเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย ที่ต้องโทษจำคุกข้อหาทุจริต แต่คณะกรรมการพิจารณาอภัยโทษที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นประธาน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โก๊ะ เซีย หยี ( Goh Cia Yee ) ทนายความมาเลเซีย โพสต์บน X ตั้งคำถามว่า อะไรคืออันตรายต่อสังคมของนักโทษข้ามเพศชาวไทยที่ไม่สามารถขยับขาได้ หรือควบคุมแขนได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เธออาจจะตายในเรือนจำก็ได้ และว่า หากคนคดโกงอย่างอดีตนายกฯ ได้รับการลดโทษ หลังจากติดคุกไม่ถึง 500 วัน ก็น่าจะเป็นเหตุผลในการอภัยโทษให้กับเธอได้
ผู้ใช้ X อีกคนเข้ามาสนับสนุนความเห็นของทนายโก๊ะ โดยบอกว่า สังคมจะไม่ได้อะไรกับการกักขังเธอต่อไป แต่การอภัยโทษให้กับอาชญากรรมของนาจิบ ทำให้ประเทศสูญเสียศักดิ์ศรีและความยุติธรรม
นาจิบ ราซัก ถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี ปรับ 210 ล้านริงกิต จากความผิดข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ ฟอกเงิน และกระทำผิดต่อหน้าที่ หลังโอนเงิน 42 ล้านริงกิต จากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย หรือ วัน MDB เข้าไปในบัญชีส่วนตัว / หลังจำคุกได้ไม่ถึง 2 ปี ก็ได้รับการลดโทษ จาก 12 ปี เหลือ 6 ปี และลดโทษปรับจาก 210 ล้านริงกิต เหลือ 50 ล้านริงกิต หรือ ประมาณ 373 ล้านบาท การลดโทษ ส่งผลให้อดีตผู้นำมาเลเซียจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2571