ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพบก หรือ ATACMS ที่สหรัฐฯส่งให้ ในการโจมตีรัสเซียมานานกว่า 1 ปีแล้ว แต่เป็นเป้าหมายในดินแดนยูเครนที่ถูกยึดครอง เช่น ฐานทัพอากาศในไครเมีย และที่ตั้งทางทหารในแคว้นซาปอริชเชีย แต่สหรัฐฯไม่อนุญาตให้กองทัพยูเครน ใช้อาวุธทรงพลังที่มีระยะทำการไกลสุด 300 กิโลเมตร โจมตีเป้าหมายลึกเข้าไปในรัสเซียได้ กระทั่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน กลับลำอย่างไม่มีใครคาดคิด ขณะที่สหรัฐฯอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังเลือกตั้งประธานาธิบดี
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าว CNN มองว่า การตัดสินใจของไบเดน เป็นไปในรูปแบบเดิม ๆกับที่ผ่านมา นั่นคือ ปฏิเสธอนุมัติอาวุธต่าง ๆ ที่ยูเครนร้องขอเป็นเวลาหลายเดือน ไม่ว่าจะเป็นระบบยิงจรวดด้วยปืนใหญ่เคลื่อนที่คล่องตัวสูง หรือ ไฮมาร์ส รถถังเอบรามส์ และเครื่องบินขับไล่ F-16 ยูเครนแสดงความไม่พอใจที่ถูกปฏิเสธ พอเสียงโวยวายดูเหมือนนิ่งแล้ว รัฐบาลไบเดนค่อยอนุมัติ ในช่วงเวลาที่เกือบสายเกินไป
ส่วนการปลดล็อกให้ใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีในรัสเซียได้ สายเกินไปหรือไม่ และจะช่วยยูเครนได้อย่างไร CNN ระบุว่า คำตอบคำถามนี้มีความซับซ้อน และบางทีนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลไบเดน ลังเลมานาน
ข้อแรก ยูเครนมีกระสุนสำหรับอาวุธที่ว่านี้จำนวนจำกัด ดังนั้น แม้จะสามารถโจมตีได้ลึกเข้าไปในรัสเซีย แต่ไม่มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสนามรบได้ในชั่วข้ามคืน นอกจากนี้ รัสเซียยังขนย้ายเครื่องบินรบ และยุทโธปกรณ์ ไปยังสนามบินที่อยู่ลึกเข้าไป ตั้งแต่คาดว่าอาจจะมีการตัดสินใจไฟเขียวให้ใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีแล้ว
ข้อที่สอง ยูเครนสามารถโจมตีเป้าหมายลึกในรัสเซียได้อยู่แล้ว ด้วยโดรนราคาถูกและผลิตเองในประเทศ และสหรัฐฯก็ช่วยออกทุนสนับสนุนการพัฒนาโดรน ที่ดูเหมือนจะได้ผลในการก่อกวนสนามบินในมอสโกและเล่นงานโครงสร้างพลังงานได้ทั่วรัสเซีย
ถึงอย่างนั้น นักการทูตตะวันตกในกรุงเคียฟ บอกสำนักข่าว BBC ว่า นี่เป็นการตัดสินใจเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงความสนับสนุนทางทหารยูเครนที่ล่าช้ามานาน และเพิ่มต้นทุนสงครามให้กับรัสเซีย ในห้วงเวลาที่กองทัพรัสเซีย กำลังได้เปรียบทางด้านตะวันออกและขวัญกำลังใจทหารยูเครนตกต่ำ
ด้าน เอฟลิน ฟาร์คาส ซึ่งเคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสมัยบารัก โอบามา แสดงความเห็นว่า ขีปนาวุธพิสัยไกลที่ถล่มลึกในรัสเซีย อาจมีผลเชิงจิตวิทยาเชิงบวกในยูเครน หากถูกนำไปใช้โจมตีบางเป้าหมาย เช่น สะพานเคิร์ช ที่เชื่อมไครเมียกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย
ส่วนคำถามที่ว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลวอชิงตันครั้งนี้ จะทำให้สงครามลุกลามบานปลายหรือไม่ เนื่องจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย เคยเตือนอย่างแข็งแกร้าวว่า หากยอมให้ยูเครนใช้อาวุธตะวันตกโจมตีในดินแดนเมื่อไหร่ รัสเซียจะถือว่า ประเทศนาโต้ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับสงครามยูเครนโดยตรง กระนั้น รัสเซียเคยขีดเส้นแดงมาก่อนแล้ว รวมถึงก่อนตะวันตกส่งรถถัง หรือเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครน แต่การล้ำเส้นแดงผ่านไป โดยไม่เป็นชนวนสงครามโดยตรง
CNN ระบุว่า รัสเซียไม่ต้องการเปิดศึกนาโตโดยตรง แต่ถึงจุดหนึ่ง ก็น่าจะต้องมีมาตรการป้องปรามกันบ้าง ที่ผ่านมา หน่วยข่าวกรองรัสเซียถูกกล่าวโทษว่า อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมเป้าหมายพลเรือนทั่วยุโรป รวมถึงการพบพัสดุจุวัตถุระเบิดบนเครื่องบินในยุโรปเมื่อไม่นานมานี้
อีกประเด็นที่ต้องจับตากันก็คือ การไฟเขียวจากสหรัฐฯ จะส่งผลให้อังกฤษและฝรั่งเศส ยอมให้ยูเครน ใช้ สตอร์ม ชาโดว์ โจมตีเป้าหมายในรัสเซียตามสหรัฐฯหรือไม่ / สตอร์ม ชาโดว์ เป็นขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลที่ฝรั่งเศสกับอังกฤษร่วมกันพัฒนา มีขีดความสามารถคล้ายกับ ATACMS ของสหรัฐฯ
จากรายงานของสื่อ รัฐบาลไบเดนตัดสินใจกลับลำ โดยยกเหตุผลเรื่องการมีทหารเกาหลีเหนือเข้าไปช่วยรัสเซียสู้รบกับยูเครน จึงถือเป็นการตอบสนองการยกระดับสงครามของรัสเซีย ด้วยการยกระดับ ผลก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เตรียมรับบทผู้สร้างสันติภาพ จะต้องมารับมรดกสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีเดิมพันสูงกว่าเดิม
ทรัมป์ยังไม่เคยแย้มว่า จะปิดฉากสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างไร นอกจากคุยว่า จะยุติได้ใน 1 วัน ขณะที่คนวงในใกล้ตัวทรัมป์ ไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกัน เจดี แวนซ์ ว่าที่รองประธานาธิบดี บอกว่าสหรัฐฯไม่ควรให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครนเพิ่มเติม แต่ไมเคิล วอลตซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ แย้งว่า สหรัฐฯควรเร่งส่งมอบอาุวธให้ยูเครน เพื่อบีบรัสเซียให้เจรจา