กรมที่ดิน ชี้แจงรายละเอียดที่มาและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

กดติดตาม TOP NEWS

ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงใดเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีกรมที่ดินหรือรองอธิบดีผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ แต่ก่อนที่จะมีคำสั่งแก้ไขหรือเพิกถอน ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเสียก่อน อย่างน้อยจะต้องมีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่เป็นกรรมการ และตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียน โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือข้าราชการสังกัดกรมที่ดินที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายฯ เห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ และให้อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย แต่งตั้งข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไป หรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัด
หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน
๑. ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
๒. มีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
มาพิจารณา กรณีไม่อาจเรียกเอกสารให้บันทึกเหตุผลไว้ กรณีได้รับเอกสารให้ออกใบรับ (ท.ด.๕๓) ไว้เป็นหลักฐาน
๓. แจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้านการเพิกถอนหรือแก้ไข
๔. รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในกำหนดระยะเวลา
๕. ขอขยายระยะเวลาการสอบสวน กรณีคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา โดยจะสั่งให้ขยายระยะเวลาการสอบสวนได้ตามความจำเป็น
๖. ขอเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนฯ กรณีมีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวน

ขั้นตอนและวิธีการสอบสวน
๑. ประชุมคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตลอดจนเอกสารหลักฐาน กำหนดประเด็น และแนวทางในการสอบสวนพร้อมจัดทำรายงานการประชุม
๒. ดำเนินการสอบสวนโดยรวบรวมพยานเอกสารและสอบสวนพยานบุคคล
๓. แจ้งผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้โอกาสคัดค้าน โดยบันทึกให้ชัดเจน ว่าผู้มีส่วนได้เสียยินยอมให้เพิกถอน หรือคัดค้านการเพิกถอนหรือแก้ไขหรือไม่ หากคัดค้าน ให้ระบุเหตุผลการคัดค้านพร้อมแสดงพยานหลักฐาน และพิจารณาหลักฐานการคัดค้าน
การจัดทำรายงานการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเอกสารหลักฐาน
ทางกฎหมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เสร็จแล้วสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายฯ ว่าสมควรสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมตามนัยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน
และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓
เงื่อนไขการพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไข
อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย จะพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ต่อเมื่อปรากฎชัดแจ้งว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ว่าการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย พิจารณายุติเรื่องตามข้อ 12 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓
ดังนั้น คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งที่ ๑๑๙๕ – ๑๑๙๖/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๖ จึงเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กรมที่ดินไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ กรมที่ดินเป็นเพียงผู้สนับสนุนข้อมูล เอกสาร พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้แก่คณะกรรมการสอบสวนฯ เมื่อได้รับการร้องขอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น