ICC ออกหมายจับโดยระบุในแถลงการณ์ว่า มีเหตุผลเชื่อได้ว่า นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู มีความรับผิดชอบทางอาญาต่ออาชญากรรมสงคราม ที่รวมถึงการใช้ความอดยอยาก เป็นวิธีทำสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการประหัตประหาร และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่น ๆ
เนทันยาฮู เป็นผู้นำอิสราเอลคนแรกที่ถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ ดำเนินการเอาผิด จากการกระทำต่อชาวปาเลไสตน์ ในสงครามความขัดแย้ง 76 ปี
ICC ซึ่งมีภาคี 124 ประเทศ ไม่มีตำรวจของตัวเองในการจับกุม ต้องพึ่งพาสมาชิกในการบังคับใช้ ซึ่งหลังออกหมายจับผู้นำอิสราเอล / ICC ได้ส่งคำร้องขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกแล้ว
ในทางเทคนิค หากเนทันยาฮู หรือ กัลแลนต์ ย่างเท้าไปยังประเทศสมาชิกรายใด ก็จะต้องถูกจับกุมและส่งมอบตัวให้กับศาล แต่อดีตที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า การดำเนินคดีต่อพลเมืองประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกไอซีซีนั้น ทำได้ยาก
หลังสุดที่ เนทันยาฮู เดินทางออกนอกประเทศ คือเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งหากเยือนในอนาคต ยังไงก็ไม่ถูกจับ เพราะนอกจากเป็นพันธมิตรและสปอนเซอร์หลักของอิสราเอล สหรัฐฯก็ไม่ใช่สมาชิกของ ICC ทั้งยังกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้ ICC อีกด้วย หลังออกหมายจับผู้นำอิสราเอล ส่วนปีที่ผ่านมา เนทันยาฮูเดินทางไปหลายประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก ICC เชื่อว่า เนทันยาฮูคงไม่เสี่ยงทำแบบนั้นอีก และประเทศต่าง ๆ ก็คงไม่อยากพาตัวเองไปอยู่ในสถานะอึดอัดใจเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นผลกระทบหนึ่งในเรื่องของจำกัดการเดินทาง
สถิติพบว่า ผู้พิพากษา ICC ออกหมายจับ 56 หมาย นำไปสู่การคุมขัง และขึ้นศาล 21 ราย อีก 27 รายยังลอยนวล และมี 7 รายศาลยกฟ้องเพราะเสียชีวิต
ผลกระทบอีกด้านที่น่าจับตา คือ พันธมิตร จะยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอิสราเอล มากกว่าความสำคัญของสนธิสัญญาและสถาบันระหว่างประเทศหรือไม่
CNN ยกความเห็นของ เอเลียฟ ลีบลิช ศาสตราจารย์กฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ว่า หมายจับของ ICC เป็นความเคลื่อนไหวทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล เพราะหมายถึงว่า จูู่ ๆ ภาคี ICC 124 ประเทศ ที่รวมถึงพันธมิตรอิสราเอล ก็มีพันธกรณีทางกฎหมายทันที ที่จะต้องจับกุมตัวเนทันยาฮูและกัลแลนต์ หากทั้งสองไปปรากฏตัวในดินแดน และอาจมีผลพัวพันกว้างกว่านั้นตามมา นั่นคืออาจจำกัดขีดความสามารถของประเทศที่สาม ในการให้ความร่วมมือกับกองทัพอิสราเอล
ส่วนบทวิเคราะห์บนเวบไซต์บรรษัทกระจายเสียงออสเตรเลีย หรือ ABC อ้างความเห็นของ จานีนา ดิลล์ นักวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่เป็นไปในทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ ว่า นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู คือคนที่ตัดสินใจทิศทางของสงครามกาซ่า การเข้าถึงความช่วยเหลือมนุษยธรรม การใช้อาวุธในอนาคต ทั้งหมดนี้คือประเด็นหลักในหมายจับ และยังเป็นปัญหาคาราคาซัง นั่นหมายความว่า รัฐใดก็ตามที่ให้การสนับสนุนทางวัตถุหรือการทูตต่อการทำสงครามของอิสราเอลในกาซ่า ย่อมเสี่ยงสนับสนุนอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติไปด้วย ประเทศที่สามควรพิจารณาปัจจัยนี้ ในการตัดสินใจจะพาตัวเองไปสู่แดนอันตรายทางกฎหมายหรือไม่ หากสนับสนุนอิสราเอล
ต้นทุนอิสราเอลนั้น สูงกว่าฮามาส ที่ไม่ได้หวาดหวั่นกับหมายจับ อิบราฮีม อัล มาสรี หรือ โมฮัมเหม็ด เดอีฟ ผู้บัญชาการทหารของฮามาส ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ประหัตประหาร ทารุณกรรม จับตัวประกัน ข่มขืนและก่อความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่น ๆ
ฮามาสออกมายินดีกับการตัดสินใจของ ICC โดยไม่เอ่ยถึงหมายจับผู้บัญชาการของตนที่ก่อกรรมทำเข็ญกับชาวอิสราเอลเช่นกัน แถมเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกับศาลโลก ในการนำตัวเนทันยาฮูและกัลแลนต์ไปดำเนินคดี
ชะตากรรมของเดอีฟ ยังสับสน อิสราเอลยืนยันว่าสามารถปลิดชีพหนึ่งในจอมบงการโจมตี 7 ตุลาคม 2566 ได้แล้ว ส่วนฮามาสยังไม่เคยยืนยันอย่างเป็นทางการ