วันที่ 25 พ.ย. 2567 ที่ห้องประชุมเมโทรโพล แกรนด์ บอลรูม โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ จังหวัดภูเก็ต นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มอบหมายให้ นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานเปิดงานและร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนและบูรณาการเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย โดยมี นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร ผู้แทนกองทัพเรือ พลเรือตรี ศิวะคเณศ สว่างนาวิน ผู้แทนศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) นายสุชาติ แสงจันทร์ ผู้แทนกรมประมง นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสฤษฏ์พัฒน์ ภมรวิสิฐ ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ผู้แทนมูลนิธิชุมชนไท นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) โดยได้รับเกียรติจาก นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนส่วนราชการจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการแจ้งเตือนภัยพิบัติในพื้นที่ รวมถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ปภ. ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามฯ
นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ปภ. และ 8 หน่วยงานและภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือต่อเนื่องครั้งที่ 2 เพื่อแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันในการสนับสนุนและดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของไทย และร่วมกันสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ รวมทั้งร่วมกันอำนวยความสะดวก ประสาน และติดตามทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ 8 หน่วยงาน จะให้การสนับสนุนร่วมกันทั้งในด้านการวางระบบและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการติดตั้ง ดูแลรักษา เฝ้าระวัง และติดตามทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ การให้ข้อมูลด้านการประมงและการประชาสัมพันธ์ให้กับเรือประมงได้รับทราบ เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการช่วยสอดส่องดูแลรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ รวมถึงการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการร่วมเฝ้าระวังและติดตามทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ทั้งในภาวะปกติและกรณีทุ่นหลุดจากตำแหน่งที่ติดตั้ง อันจะส่งผลให้ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิมีความพร้อมสำหรับใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนภัย ตลอดจนยังเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคีเครือข่ายชุมชน ซึ่งถือเป็นการหนุนเสริมและผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การดูแลรักษาระบบการแจ้งเตือนภัยสึนามิของไทย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยวพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ตลอดจนผู้ที่อยู่อาศัยในภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดีย จะได้สามารถเตรียมพร้อมรับมือและอพยพหนีภัยสึนามิได้อย่างทันท่วงที
ต่อมาในเวลา 10.30 น. ได้มีการจัดกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “20 ปี สึนามิกับการเตือนภัยในอนาคตของประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ได้แก่ 1) ศ.ดร.อาณัติ เรืองรัศมี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) นายพชร อัศวกิตติมากุล ผู้แทนศูนย์เตือนภัยล่วงหน้าแห่งภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย (Regional Integrated Multi-hazard Early Warning System : RIMES) 3) นางสาวลภัสรินทร์ พงค์ธนาโตภัทร ผู้แทนเครือข่ายเพื่อนเตือนภัยจังหวัดภูเก็ต 4) พล.อ.อ.สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้แทนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีประเด็นการเสวนา ได้แก่ ความก้าวหน้าด้านการจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานระหว่างประเทศในการจัดการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยสึนามิในอนาคต บทบาทการเป็นเครือข่ายแจ้งเตือนภัยสึนามิและภัยพิบัติ ความร่วมมือในอนาคตด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงในข่าวสารด้านภัยพิบัติ รวมถึงความพร้อมในการสื่อสารและเทคโนโลยีการแจ้งเตือนภัยสึนามิ และการแจ้งเตือนภัยในอนาคต.
จิระชัย เกษมพิมลพร จ.ภูเก็ต