สรส. ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติ – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.30 น.ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นผู้แทนยื่นหนังสือ ถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ” โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับยื่นหนังสือแทน
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เห็นว่ารัฐบาลควรยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพราะประเทศชาติเสียหายประชาชนเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบและยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังต่อไปนี้
1. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และทบทวนภารกิจแห่งรัฐด้านการจัดบริการสาธารณะที่เอื้อประโยชน์เอกชน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้ทำหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชน
2. ขอให้รัฐบาลหยุด ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่มุ่งทำลายกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทยและรัฐวิสาหกิจด้านการขนส่งทางรางแทนการพัฒนาการกำกับดูแลการขนส่งทางรางทั้งระบบ รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ ทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีกลุ่มนายทุนนักการเมืองครอบครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และชำระหนี้สินคงค้างจำนวน 288,000 ล้านบาท คืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
3. ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมแก่ความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อไม่เป็นภาระแก่ประชาชนรวมถึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงานได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ รวมถึงดำเนินการศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าและสายส่งของรัฐ และรัฐต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 70 ของปริมาณแผนการใช้ไฟฟ้าของประเทศ การสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเพื่อทดแทน พร้อมทั้งการทบทวนหรือยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าของเอกชนที่ไม่เป็นธรรม และการรับผิดชอบหนี้เงินกู้ที่มาจากค่าพร้อมจ่ายเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน
4. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 27 กันยายน 2559 เพื่อเป็นการยกเลิกการยึดสัมปทานเส้นทางเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้เอกชนมาเดินรถแทน จนประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารที่สูงขึ้นส่งผลผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน และให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดำเนินการบริหารจัดการเส้นทางเดินรถเพื่อบริการประชาชนกรุงเทพฯ และปริมณฑล