เครือซีพี ผนึก ภาครัฐ – ภาคประชาสังคม – ชุมชน เร่งฟื้นฟู “หญ้าทะเล” อ่าวไม้ขาว จ.สตูล หนุนอาหารพะยูนและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่ม Blue Carbon สร้างสมดุลระบบนิเวศทะเลไทยยั่งยืน

กดติดตาม TOP NEWS

เมื่อเร็วๆนี้  นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นายประจวบ โมฆะรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 7 นาวาเอกแสนย์ไท บัวเนียม รองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายบรรจง นะแส  ที่ปรึกษาสมาคมทะเลไทย และอีก 5 ชุมชน ในพื้นที่ ต.ทุ่งหว้า ต.นาทอน ต.ขอนคลาน และ ต.ทุ่งบุหลัง ร่วมงาน “ซีพี ร้อย รักษ์ โลก ฟื้นฟูหญ้าทะเล” ภายใต้โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง-สตูล เพื่อเพิ่มปริมาณหญ้าทะเล แก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรมบริเวณอ่าวไม้ขาวให้กลับมาอุดมสมบูรณ์  เป็นแหล่งอาหารให้แก่พะยูน แหล่งที่อยู่อาศัยอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ ถือเป็นหนึ่งในแหล่ง Blue Carbon ร่วมกับระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้แก่ชุมชน สร้างสมดุลระบบนิเวศทะเลไทยยั่งยืน จัดขึ้น ณ บ้านท่าอ้อย ต.ทุ่งหว้า จ.สตูล

นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และบูรณาการความร่วมมือร่วมกัน โดยเรื่องปัญหาหญ้าทะเลหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน กำลังเกิดวิกฤติเสื่อมโทรมอย่างหนักในหลายพื้นที่จากหลายปัจจัย  โดยงานปลูกหญ้าทะเลในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภาคประชาสังคม และอีก 5 ชุมชน ในพื้นที่ ต.ทุ่งหว้า ต.นาทอน ต.ขอนคลาน และต.ทุ่งบุหลัง และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเลบริเวณอ่าวไม้ขาวให้กลับมาสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการผ่านงานวิจัยควบคู่กับการดูแลของชุมชน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ สามารถค้นหาคำตอบและทางออกที่เหมาะสมในการจัดการพื้นที่ให้มีศักยภาพต่อไป

ด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีผลักดันนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางทะเลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบายแกนหลัก “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” ที่จะบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีแผนงานที่สำคัญ คือ อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ เครือซีพี ได้ขับเคลื่อนโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง – สตูล โดยทำประชาคมร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้ทะเลเพื่อให้ชุมชนสามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน  โดยกิจกรรมปลูก “หญ้าทะเล” ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นหนึ่งในแหล่ง Blue Carbon ร่วมกับระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ  นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทั้งเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ  ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลและที่หลบภัยของสัตว์น้ำอีกหลายชนิด  โดยหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยให้แหล่งหญ้าทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า ทะเลไทยถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญเกือบ 2 ล้านตันต่อปี ถือว่าอุดมสมบูรณ์มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1.2 ล้านตันต่อปี บ่งชี้ว่าคนไทยกำลังขาดแคลนผลผลิตทางทะเล ส่งผลต่ออาชีพชาวประมงและเศรษฐกิจของประเทศ  โดยดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของทะเลในฝั่งอันดามัน บ่งบอกว่าหญ้าทะเลและสัตว์หายากอย่างพะยูน ที่อาศัยอยู่ใน จ.ตรัง กว่า 100 ตัว กำลังพบกับวิกฤตความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล ทำให้พะยูนบางส่วนต้องอพยพมาที่ จ.สตูล ซึ่งเป็นเขตรอยต่อเพื่อหาอาหารแหล่งใหม่ โดยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาพบพะยูนตาย 3-4 ตัว ในเขต จ.สตูล ไม่รวมจังหวัดอื่นๆ  ทำให้การทำกิจกรรมในครั้งนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกพื้นที่เพื่อปลูกหญ้าทะเล โดยเลือกเป็นบริเวณปากแม่น้ำทุ่งหว้า ซึ่งเป็นรอยต่อของ จ.สตูลและตรัง เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า จากการสำรวจพะยูนในพื้นที่ จ.ตรัง แต่เดิมมีจำนวนเกือบ 180 – 200 ตัว แต่กลับหายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ จ.กระบี่ ไปจนถึง จ.ตรัง ปัจจุบันมีอัตราการตายเฉลี่ย 35 ตัวต่อปี จากเดิมมีอัตราการตายเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ตัวต่อปี สาเหตุที่ทำให้พะยูนต้องตายและบางส่วนอพยพย้ายไปหาแหล่งอาหารในพื้นที่อื่น มาจากปัญหาแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมขยายเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะโลกเดือด โดยเฉพาะปลายปี 2566 – 2567 พบว่าระดับน้ำทะเลอันดามันลดต่ำกว่าปกติ ทำให้หญ้าทะเลต้องตากแดดนานกว่าปกติ ประกอบกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้หญ้าทะเลมีความอ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตได้เต็มที่

ทั้งนี้ภายในงานมีการออกบูธให้ความรู้ต่างๆ อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ความรู้เกี่ยวกับหญ้าทะเล มูลนิธิอันดามัน ให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูน มหาลัยราชมงคลศรีวิชัยตรัง มาให้ความรู้เรื่องการปลูกหญ้าทะเล โดยร่วมกันปลูกหญ้าทะเลและปล่อยพันธุ์ลูกปูม้าระยะซูเอี้ย กว่า 5 แสนตัว นอกจากนี้ เครือซีพี ยังเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และบมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CP Axtra) ทั้งแม็คโคร (Makro) และโลตัส (Lotus’s) สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ด้วย โดยงานนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วน จะมีส่วนร่วมช่วยกันฟื้นฟูและดูแลหญ้าทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งปลูกฝังชุมชนให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเกิดความยั่งยืนทั้งคน สัตว์น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น