“ดร.ณัฏฐ์” ชี้สถานการณ์ยังไม่สุกงอม เชื่อปลุกม็อบล้มร้ฐบาลยังจุดไม่ติด
ข่าวที่น่าสนใจ
27 พ.ย.2567 ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ ระบุว่าขณะนี้สถานการณ์การเมืองไทยใกล้ถึงช่วงสุกงอมแล้ว พร้อมลงถนนครั้งสุดท้าย ซึ่งตอนนี้มีความร้อนแรง แต่ต้องรอให้เดือดกว่านี้
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าการเมืองไทย เป็นลักษณะการเมืองสามก๊ก แบ่งขั้วชัดเจน แม้จะตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ข้ามอุดมการณ์ เป็นไปตามกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นปกติของรัฐบาลผสม หากพิจารณาเสียงฝ่ายค้านเป็นเสียงข้างน้อย โอกาสตรวจสอบฝ่ายบริหารมีลักษณะเป็ดง่อย แต่หากดูโครงสร้างการเมืองการปกครองไทยตามรัฐธรรมนูญ หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีองค์กรอิสระ 5 องค์กร ตรวจสอบถ่วงดุล ควบคู่ไปกับฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ตนให้ความรู้กฎหมายมหาชนแก่ประชาชน มองเป็นกลาง อีกแง่มุมหนึ่ง อันเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ทั้งรัฐธรรมนูญยังให้อำนาจภาคประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างเข็มแข็ง หากพบเห็นผิดปกติของบ้านเมืองที่หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงกำกับควบคุมอยู่ไม่ใช้บังคับกฎหมายให้เท่าเทียมกัน เช่น กรณีที่ดินเขากระโดง หรือกรณีข้อตกลง MOU 44 ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ชัด กรณีที่ดินเขากระโดง เป็นเรื่องภายในประเทศ ที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ดินตาม ป.ที่ดินมาตรา 61 แล้วมีมติหักคำพิพากษาศาลฎีกา โดยไม่เชื่อแผนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยพรรคการเมืองค่ายสีน้ำเงินคุมกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน โดยรัฐบาลที่ผ่านมา ค่ายสีน้ำเงิน คุมกระทรวงคมนาคม คุมการรถไฟแห่งประเทศไทย และเห็นได้เด่นชัด ร่าง พรบ.ประชามติ ที่จะแก้ไขให้เหลือ การออกเสียงประชามติให้มีเพียงชั้นเดียว เป็นเสียงข้างมากธรรมดาที่ใช้อำนาจต่อรองการเมือง จนล้มไม่เป็นท่า และไม่ใช่ ร่าง พรบ.เกี่ยวกับการเงิน ที่จาก 180 วันให้ลดเหลือ 10 วัน แม้จะใช้งบประมาณในการจัดทำประชามติก็ตาม เป็นการอ้างๆคูๆ โดยไม่อ่านรัฐธรรมนูญ
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าระหว่างฝุ่นตลบ เรื่อง ร่าง พรบ.ประชามติ มีมือดีมาปูดข่าว ที่ดินเขากระโดง ที่แอบทำกันเงียบๆมิให้สังคมรู้ ทำให้ข่าวกระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้กระแสรักชาติเกิดขึ้น แต่บริเวณที่ดินเขากระโดง มีทั้งสนามกีฬา สนามแข่งรถ และสิ่งปลูกสร้าง ของผู้นำจิตวิญญาณค่ายสีน้ำเงิน แม้จะเป็นที่ดินบางส่วนจาก 300 กว่าไร่ จาก 5,038 ไร่ก็ตาม
แต่เป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ที่กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยไม่ชอบ ทำให้พลพรรคค่ายสีน้ำเงินออกมาตอบโต้รายวัน
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนไว้ในหมวด 3 มาตรา 44 เป็นสิทธิของนายสนธิ ลิ้มทองกุลหรือพลเมืองไทยคนอื่น สามารถรวมกลุ่มและชุมนุมได้ตามกฎหมาย
แต่ปัจจุบันมี พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ โดยมีเงื่อนไขในการชุมนุมจะต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่มีการชุมนุมสาธารณะก่อน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้
บริบทการเมืองในปี 2549 กับบริบททางการเมืองปลายปี 2567 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 มีความแตกต่างกัน ตัวแปรสำคัญ จะเป็นการชุมนุมใหญ่ได้หรือไม่ ในปี 2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตร ใช้ข้ออ้างล้มรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เรื่องขายหุ้นไม่เสียภาษี จนนำไปสู่การรัฐประหารโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ประธาน คมช. เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549
และในปี 2557 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ออกมาเรียกร้องและชัตดาวน์ปิดกรุงเทพฯ กรณีนิรโทษกรรมสุดซอยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำไปสู่ประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ศ.2557
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าจะเห็นได้ว่า ตัวแปรสำคัญ เป็นการกระทำของฝ่ายรัฐบาล และประชาชนในขณะนั้น เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีและบริวาร ใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำให้กระแสการเมืองจุดติด ขยายลุกลามไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของประเทศ นำไปสู่การรัฐประหารของฝ่ายกองทัพทั้งสิ้น
ตนเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทิศทางการเมืองในปี 2567 ว่า นารีขี่ม้าขาว จะมีการเปลี่ยนม้ากลางศึก และจากนารีขี่ม้าขาว เป็นนารีขี่ม้าเขียว หมายความว่า จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น โดยตนอ่านเกมการเมืองของพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล(พรรคประชาชน) ที่ชนะการลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ข้ามอุดมการณ์ทางการเมือง แม้รวบรวมเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา แต่เกิดปัญหาแน่ หากนายทักษิน ยังเข้ามาก้าวก่ายทางการเมือง ไม่ไปเลี้ยงหลาน เหมือนที่พูด แม้ทางนิตินัยไม่มีหลักฐาน แต่ในทางพฤตินัย ประชาชนเขาไม่เชื่อ
“การเมืองสามก๊ก รัฐบาลผสมข้ามขั้ว ข้ามอุดมการณ์ กรณีที่ดินเขากระโดงก็ดี และข้อตกลง MOU 44 ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นำมาเปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา จะเป็นตัวแปรสำคัญ ให้อดีตกลุ่มพันธมิตรคืนชีพ รวมตัวกันออกมาล้มรัฐบาลแพทองธาร”
เพียงแต่การล้มรัฐบาลแพทองธาร โดยการชุมนุมเรียกร้อง จะแตกต่างในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่รัฐบาลยินยอมลาออกเพราะมีคนตายจำนานมาก แต่เป้าหมายหลักชุมนุมเรียกร้อง เพื่อเรียกร้องให้ทหารเข้ามารัฐประหาร เหมือนดั่งในปี 2549 และ 2557 มากกว่า หากพิจารณาดูจากสถานการณ์ของบ้านเมืองปัจจุบัน แม้สถานการณ์เดือดเรื่องเขากระโดง แต่เรื่อง ข้อตกลง MOU 44 ยังไม่ชัดแจ้ง ทั้งตัวแปรประชาชน สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ด้วยมือถือ โดยประชาชนใช้กระบวนการตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่
นักกฎหมายมหาชน มองว่าแตกต่างจากในบริบทการเมืองในอดีต แกนนำบางคน บางสีเสื้อ ใช้เทคนิคขนคนเข้าร่วมการชุมนุม โดยขณะนั้น ระบบออนไลน์ประชาชนเข้าถึงระดับน้อยมาก และยังไม่มีกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ดังนั้น รัฐบาลแพทองธาร บริหารงานมาเพียง 3 เดือน ระยะสั้น แม้ในการประชุมเวทีต่างๆ ขณะพูด อ่านโพยบ้าง อ่านตามไอแพดบ้าง เป็นไปตามปกติของนักการเมืองแม่ลูกอ่อนมือใหม่ แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดว่า มีกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีนักร้องรายวัน กรณีเขากระโดง เป็นเรื่องของค่ายการเมืองค่ายสีน้ำเงิน แม้ MOU 44 เป็นเรื่องย้อนอดีต สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ทั้งหลักฐานสำเนาที่นายปานเทพฯ นำมาเผยแพร่ ยังไม่ชัดว่า เป็นสนธิสัญญาหรือข้อตกลงปันผลประโยชน์ร่วม เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ
สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สุกงอม ปลุกกระแสรักชาติ บริบทการเมืองยังจุดไม่ติด เหมือนกับม็อบ คปท.ที่เคยชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาลก่อนหน้านี้ ล้มไม่เป็นท่า ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตร ประกาศเตรียมตัวชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เหมือนเคยทำในปี 2549 ถือว่าเป็นสิทธิของภาคประชาชนชนที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมสาธารณะไว้ ในเมื่อฝ่ายค้านเป็นเป็ดง่อยเสียงข้างน้อย กระบวนการตรวจสอบไร้ประสิทธิภาพ จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาชน ส่วนจะล้มรัฐบาลแพทองธารได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสถานการณ์การเมืองปัจจุบันแตกต่างจากบริบทการเมืองปี 2549 และในปี 2557 ดังนั้น การเมืองไทยสามก๊ก คนกลางอย่างม้าสีเขียว แถลงการณ์ยึดอำนาจ“โปรดฟังอีกครั้ง” ช่วงนี้ ตัวแปรยังไม่ได้เกิดแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น