นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวประธานรัฐสภาจะส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปในวันที่ 27 ก.ย. นั้น ตนมีความจำเป็นต้องส่งหนังสือนี้ เพื่อชี้ช่องพยานหลักฐานเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ควรนำไปประกอบการตรวจสอบว่า มีความขัดหรือแย้งกันอย่างไรหรือไม่นั้น เนื่องจากตนมีพยาน หลักฐานจากข้อความที่ถอดเทปการอภิปรายของรัฐสภา วันที่ 24 ส.ค.2564 ช่วงการแถลงของนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญฯ เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 มีความขัดหรือแย้งกันกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105 ในส่วนข้อความที่ยังล้นเกินในสาระสำคัญอย่างชัดเจน ดังนั้นการที่รัฐสภาเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่ามีบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวขัดแย้งกัน มีความล้นเกินปรากฏอยู่ต่อไป โดยไม่ทบทวนแก้ไขให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงหาควรเป็นเช่นนั้นไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า นอกจากนี้จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ที่ระบุว่า “รักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ” และ “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม” จึงเป็นแนวทางที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 โดยไม่รักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ และไม่อยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือมาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105 นั้น การลงมติของรัฐสภา จึงเข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยใช้เสียงข้างมากที่ขัดต่อหลักนิติธรรมตามความในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3 วรรคสอง
“หากนายกรัฐมนตรีทราบถึงการกระทำของรัฐสภาแล้ว แต่ยังจะคงดำเนินการต่อไปจนสิ้นสุดกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ คือดำเนินการตามมาตรา 81 มาตรา 145 โดยไม่ดำเนินการตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (2) และล่วงถึงมาตรา 146 ก็ย่อมยากแก่การเยียวยาแก้ไข และหากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะทำให้มาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐสภา เป็นบทบัญญัติใหม่ที่ไม่รักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ และไม่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม คือมาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และมาตรา 105 ปรากฏอยู่ตลอดไปในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งหาควรเป็นเช่นนั้นไม่” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้นตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชี้ช่องพยาน หลักฐานเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และขอให้นายกรัฐมนตรีฟังคลิปดังกล่าว และศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้ละเอียดรอบคอบ เพื่อนำไปประกอบการตรวจสอบว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มีความขัดหรือแย้งกันกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อย่างไร หรือไม่ และขอให้พิจารณาดำเนินการตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (2) ต่อไปโดยเร็ว