ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวถึงแผนการให้บริการและการบริหารจัดการวัคซีน ว่าในที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแนะนำว่าการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแบบสูตรไขว้ อาจใช้หลักการเดียวกับวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากต้องรอข้อมูลจากผลวิจัยเพิ่มเติม โดยใช้สูตร ดังนี้ ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์, ซิโนฟาร์ม-แอสตราเซนเนกา ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์, ซิโนฟาร์ม-ซิโนฟาร์ม และกระตุ้นด้วยแอสตราเซนเนกา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็ม 2, ซิโนฟาร์ม-ซิโนฟาร์ม กระตุ้นด้วยไฟเซอร์ ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็ม 2 ดังนั้น การฉีดซิโนฟาร์มแบบสูตรไขว้จึงยังไม่กำหนดเป็นสูตรหลักของประเทศ การใช้สูตรนี้จึงเป็นไปตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนอนุญาตการใช้วัคซีนโดยองค์การอาหารและยา และตามความสมัครใจของผู้รับวัคซีน และดุลพินิจของผู้ให้บริการ
ที่ประชุมยังพูดถึงแผนการจัดหาวัคซีนซึ่งภายในปี 2564 จะมีการจัดหาได้ 178.2 ล้านโดส โดยในเดือนกันยายนรับเข้ามาแล้วทั้งซิโนแวค แอสตราเซนเนกา และไฟเซอร์ ทั้งหมด 16.3 ล้านโดส และเตรียมรับของซิโนฟาร์มอีก 10 ล้านโดส เดือนตุลาคมจะเข้ามาอีกทั้งหมด 24 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีก 6 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายนเข้ามาอีก 23 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีก 6 ล้านโดส และเดือน ธันวาคมเข้ามาอีก 24 ล้านโดส ซิโนฟาร์มอีก 12.5 ล้านโดส และโมเดอร์นาอีก 2 ล้านโดส รวมวัคซีนที่จะเข้ามาตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคมทั้งหมด 50 ล้านโดส และเมื่อรวมกับที่เข้ามาก่อนหน้านี้ 126.2 ล้านโดส ก็จะเป็น 178.2 ล้านโดส ตามแผนที่วางไว้
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า ประเทศในสหภาพยุโรป พร้อมขายต่อวัคซีนให้ในราคาถูกที่ต่ำกว่าตลาด คือประเทศสเปน ขายแอสตราเซนเนกา 165,000 โดส ในราคาโดสละ 2.9 ยูโร และไฟเซอร์ 2,788,110 ล้านโดส ราคาโดสละ 15.5 ยูโร ประเทศฮังการี ขายแอสตราเซนเนกา 4 แสนโดส ราคาโดสละ 1.78 ยูโร โดยมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร่วมด้วย คือค่าบรรจุภัณฑ์และที่ควบคุมอุณหภูมิ ค่าขนส่ง ค่าภาษีศุลกากรขาออก-ขาเข้า ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าประกันความเสียหาย ที่ประชุมจึงเห็นชอบและให้จัดหา โดยเสนอของบประมาณต่อครม.