Top news รายงาน กทม. ไม่หนาวอย่างที่คิด เกิดจากปรากฏการณ์ “เกาะความร้อน” หรือไม่. ทำอย่างไร จะแก้ปัญหานี้ได้ อย่างเป็นรูปธรรม.
คนกรุง ลุ้นกันยกใหญ่ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา แต่ทว่า อากาศที่คน กทม.สัมผัส กลับไม่หนาวอย่างที่คิด ซึ่งปัจจัย
ที่หนุนให้ กทม. หรือ ในเมืองใหญ่ อุณหภูมิไม่ลดต่ำ คาดการณ์กันว่า มาจากปรากฎการณ์ “เกาะความร้อน” (Urban Heat Island) หรือ “ปรากฏการณ์โดมความร้อนเมือง” ที่พอจะ
อธิบายง่ายๆ ได้ว่า ทุกพื้นที่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เท่าๆ กัน แต่การดูดซับ และสะท้อนของความร้อนจะไม่เท่ากัน
ปรากฎการณ์ “เกาะความร้อน” คืออะไร
ปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่โดยรอบ ลักษณะของเส้นอุณหภูมิมีลักษณะคล้ายเกาะ
หรือ โดมขนาดใหญ่เหนือเมือง โดยสาเหตุหลักมาจากการที่พื้นที่เมือง มีการสร้างสรรค์สิ่งปลูกสร้าง เช่น อาคาร ถนน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ดูดซับ และเก็บความร้อนจากแสงแดดได้มากกว่าพื้นที่ธรรมชาติ
เช่น ป่าไม้ หรือทุ่งหญ้า จึงทำให้พื้นที่ในเมือง ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ และสภาพอากาศที่ร้อนกว่าพื้นที่ชานเมืองหรือชนบท หลายๆ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคงเคยสงสัยว่า ในช่วงเวลากลางคืน
ทำไมบางคืน มีสภาพอากาศที่ร้อนและอบอ้าวกว่าทุกวัน นั่นเป็นเพราะมวลความร้อนที่ถูกดูดซับ และกักเก็บไว้ในช่วงเวลากลางวันได้แผ่กระจายออกมา แต่ถูกปิดกั้นจากอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่สูง
และหนาแน่น จึงไม่สามารถแพร่กระจายสู่ท้องฟ้า หรือพื้นที่ภายนอกได้ นอกจากนี้ พื้นที่เมืองยังมีการใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้เกิดการปล่อยความร้อนจากระบบการทำงานต่างๆ เช่น ระบบทำความร้อน
ระบบปรับอากาศ และการขนส่ง