ครม.ไฟเขียวร่าง กม.ตั๋วร่วม 3 ประเภท-อายุไม่เกิน 10 ปี กำหนดค่าโดยสารกลาง พร้อมตั้งกองทุนสนับสนุน

ครม.อนุมัติร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... กำหนดค่าโดยสารกลาง แบ่งประเภทตั๋วร่วม 3 ประเภท และมีอายุไม่เกิน 10 ปี ตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม

ครม.ไฟเขียวร่าง กม.ตั๋วร่วม 3 ประเภท-อายุไม่เกิน 10 ปี กำหนดค่าโดยสารกลาง พร้อมตั้งกองทุนสนับสนุน – Top News รายงาน

ร่าง กม.ตั๋วร่วม

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเพื่อเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับการให้บริการระบบตั๋วร่วมในอนาคต และสำหรับผู้ให้บริการในปัจจุบันที่จะเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม กำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนประชาชน รวมถึงสนับสนุนผู้รับใบอนุญาตที่เข้าร่วมระบบตั๋วร่วม กำหนดผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม และในกรณีมีความจำเป็นให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ สรุปได้ ดังนี้
กำหนดบทนิยาม ร่างมาตรา 3

  • “ตั๋วร่วม” หมายความว่า รูปแบบการชำระค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการในการขนส่ง สาธารณะทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม ไม่ว่าด้วยการใช้บัตรหรือสิ่งอื่นใดแทนการใช้บัตรก็ตาม
  • “ระบบตั๋วร่วม” หมายความว่า ระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับค่าโดยสารค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ ในการขนส่งสาธารณะ ซึ่งใช้มาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม
  • “ขนส่งสาธารณะ” หมายความว่า การขนส่งผู้โดยสารโดยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรูปแบบทางถนน รูปแบบทางราง หรือรูปแบบทางน้ำ

ข่าวที่น่าสนใจ

หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (ร่างมาตรา 14 – 23 ) การประกอบกิจการระบบตั๋วร่วม กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วม (คนต.) ทั้งนี้ โดยการขอรับใบอนุญาตเป็นโดยความสมัครใจของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการรายใดไม่ขอรับใบอนุญาต จะมีผลทำให้ไม่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนเงินกองทุน แต่จะไม่มีโทษ ทั้งนี้ ใบอนุญาตประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมแบ่งเป็น 3 ประเภท และมีอายุไม่เกิน 10 ปี ได้แก่
(1) การให้บริการศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (2) การให้บริการออกตั๋วร่วม และ (3) การให้บริการระบบตั๋วร่วม
– กำหนดให้ในกรณีจำเป็น เพื่อรักษาการให้บริการระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างระบบตั๋วร่วม หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งสาธารณะใดเป็นกิจการที่ต้องใช้ระบบตั๋วร่วม และต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ โดยก่อนมีการตราพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องจัดให้มีการเจรจาและทำความตกลงร่วมกับผู้ประกอบกิจการขนส่งสาธารณะที่จะถูกบังคับ รวมถึงดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามความเหมาะสมและนำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา ซึ่งหากผู้ประกอบการที่ถูกบังคัมภายใต้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางปกครอง

หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (ร่างมาตรา 24) กำหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต
1. ประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมให้เป็นไปตามมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ระบบตั๋วร่วมทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้
2. บำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงระบบตั๋วร่วม หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน ในกรณีที่เกิดความชำรุดเสียหาย จะต้องดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
3. รวบรวมข้อมูลการใช้บริการระบบตั๋วร่วม ข้อมูลการเดินทาง และข้อมูลมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่ สนข. ร้องขอ และประมวลผลข้อมูลเพื่อรายงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สนข. ประกาศกำหนด
4. รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความสะดวก ได้รับการบริการที่ไม่สุภาพ หรือได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอื่นใดอันเนื่องมาจากการให้บริการระบบตั๋วร่วม เพื่อรายงานต่อ สนข.
5. นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม
6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่กำหนดในประกาศ ระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ

หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (ร่างมาตรา 25 – มาตรา 28) การกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารร่วมตามที่ คนต. กำหนด โดยให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1. การบูรณาการอัตราค่าโดยสารระหว่างระบบขนส่งสาธารณะที่ต่างระบบและต่างผู้ให้บริการขนส่ง
2. ค่าใช้จ่ายอันสมควรในการให้บริการขนส่งสาธารณะโดยมีกำไรที่สมเหตุสมผล ตามประเภทและลักษณะของการให้บริการที่เป็นไปตามปกติในการประกอบธุรกิจ

ครม.

หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (ร่างมาตรา 29 – มาตรา 34) ให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมใน สนข. โดยมีวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล
2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม และ
3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม

แหล่งที่มาของเงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม
(1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
(2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(3) เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
(4) เงินที่ได้รับจากผู้ได้รับใบอนุญาต
(5) เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุน แล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน
(6) เงินค่าปรับทางปกครอง
(7) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน
(8) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
(9) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากกองทุน กองทุนหมุนเวียน เงินทุน เงินทุนหมุนเวียน หรือทุนหมุนเวียน

กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้
(1) เป็นเงินส่งเสริมและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตเนื่องจากประกอบกิจการระบบตั๋วร่วมเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามที่ คนต. กำหนด
(2) เป็นเงินสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาต เนื่องจากการนำอัตราค่าโดยสารร่วมมาประยุกต์ใช้
(3) เป็นเงินสนับสนุนการจัดตั้งหรือปรับปรุงศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ
(4) เป็นเงินสนับสนุนการลงทุนพัฒนาระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติของผู้รับใบอนุญาต
(5) ให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม
(6) เป็นเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัย และพัฒนาระบบตั๋วร่วม
(7) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน

ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่เป็นไปตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ผู้บริหารท็อปนิวส์" ร่วมแสดงความยินดี "ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม" คนใหม่ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
"ผู้บริหารท็อปนิวส์" เข้าพบ "รมว.วัฒนธรรม" หารือด้านการประชาสัมพันธ์
"ผู้บริหารท็อปนิวส์" ถือฤกษ์ดีเข้าอวยพรปีใหม่ "ปลัดสำนักนายกฯ" พร้อมชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ "พระราชพิธีสมมงคล" 14 ม.ค.นี้
หนีไม่รอด “ไอ้เหน่ง” เอเย่นต์ยายิงสู้ตร.สายไหม จนมุมหลังหนีกบดานประเทศเพื่อนบ้าน
ปิดฉากรัก 13 ปี "ต่อ ธนภพ" เปิดใจทั้งน้ำตา รับเลิกกับแฟนสาวนอกวงการ
บ้านลูกชายไบเดนไหม้เป็นเถ้าในไฟป่าสหรัฐ
โจรจีนเหิม! ก่อเหตุวิ่งราว-ฉ้อโกง 2 คดีซ้อน สูญรวม 13 ล้าน ตร.ยันยังไม่พบความเชื่อมโยงแก๊งเดียวกัน
จีนยุติการค้นหาเหยื่อแผ่นดินไหวทิเบต
ทิวทัศน์ ‘แม่น้ำเหลือง’ ของจีนกำลังเปลี่ยนเป็นน้ำแข็ง
"ปลัด กทม." กำชับหน่วยงานในสังกัด เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อ ปชช.

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น