“วันสิ่งแวดล้อมไทย” กับ 3 ปัญหาหลักด้าน สิ่งแวดล้อม ยังน่าเป็นห่วง

4 ธันวาคม “วันสิ่งแวดล้อมไทย” กับ 3 ปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อม ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้สถานการณ์วันสิ่งแวดล้อมไทย ยังน่าเป็นห่วง

 

Top news รายงาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดํารัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยต้องประสบ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกร ให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช้เพียงเพื่อประเทศไทยเท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย” เป็นที่มาของการประกาศให้ วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันสิ่งแวดล้อมไทย” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เกิดภาวะ “โลกร้อน” ตามมา

ข่าวที่น่าสนใจ

วันสิ่งแวดล้อมไทย  ไทยยังเผชิญอยู่กับ 3 ปัญหาหลัก ประกอบด้วยขยะพลาสติก ป่าไม้  และมลพิษทางอากาศ

 

การศึกษาของ Ocean Conservancy พบว่า ในปี 2016 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน โดยประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา (34 ล้านตัน) สหภาพยุโรป (30 ล้านตัน) อินเดีย (26 ล้านตัน) ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 (4.8 ล้านตัน) แต่พลาสติกที่มีการใช้ทั่วไปนั้น ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเอง จึงมีการจัดการโดยการเผา หรือฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ ดิน อากาศได้ โดยจากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ในเดือนเมษายน 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 3,440 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปี 2562 ถึงร้อยละ 62 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้บริการ Food delivery และ Online Shopping ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นพลาสติกที่ Recycle ได้เพียง 19% นอกนั้นเป็นพลาสติกปนเปื้อน

 

ประเทศไทยเอง ก็มีความพยายามเข้ามาจัดการ “ขยะพลาสติก” แบบใช้ครั้งเดียว โดยรัฐบาลได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 เป้าหมาย เป้าหมายแรก ได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดส์ (ภายในปี 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี 2565) โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภายในปี 2570 ตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิด สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100%

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคเสถียร เผยถึงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย จากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่า ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่

 

พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง สาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire) นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่า เกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้

 

ซึ่งการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ไทย ดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจาก นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2580 นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 33 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อใช้ประโยชน์ร้อยละ 12 ของพื้นที่ประเทศ แต่สถิติพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความถึง การสูญหายไปของสัตว์ป่าดั้งเดิม ลดน้อยถอยลงไปด้วยเช่นกัน

 

ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในปี 2566 คนไทยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงขึ้นมาก เช่น โรคหลอดลมอักเสบ และมะเร็งปอด นับวัน ฝุ่น PM2.5 ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เกินค่ามาตรฐาน กระทบสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือ–ภาคอีสาน ต้องเผชิญกับมลพิษนี้เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมของทุกปี จากข้อมูลคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในอากาศของกรุงเทพมหานคร เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ในปี 2567 ระดับฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่เดือนมกราคม (22.7-66.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนกุมภาพันธ์ (35.5-87.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ขณะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในอากาศของภาคเหนือ จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ระดับฝุ่น PM2.5 ในอากาศส่วนใหญ่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนกุมภาพันธ์ (18.6-92.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และมีผลกระทบต่อสุขภาพในเดือนมีนาคม (47.4-158.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาภาคเกษตรกรรม

 

ในส่วนของความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … หรือ ร่าง “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2563 โดย “เครือข่ายอากาศสะอาด” การรวมตัวของกลุ่มคนจิตอาสา ทั้งนักวิชาการสาขาต่างๆ และกลุ่มภาคประชาชน ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ และหาสาเหตุต้นตอในเรื่องนี้ ซึ่งประกอบด้วย 124 มาตรา 8 หมวด เป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาคาดว่า ภายในปี 2568 เมื่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาโหวตเห็นชอบ และไม่มีการแก้ไข ขั้นตอนถัดไปคือ ทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

 

 

 

ที่มา

HOME-ONEP-2

https://www.seub.or.th/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เหลือ อด..ขึ้นป้ายสาปแช่งคนวางยาเบื่อหมาแมวตาย
"พิพัฒน์" นำทัพแรงงาน พร้อมถุงยังชีพ ลุยช่วยน้ำท่วมใต้ จัดทีมซ่อมแซมเครื่องใช้เสียหาย
ซีอีโอ NVIDIA ร่วมงาน AI Vision ซีพี ส่ง “ทรู ไอดีซี” ลงนาม “สยามเอไอคลาวด์” สร้างไทยเป็นฮับ AI ดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาค หรือ TH-AI-LAND
“สุวรรณภูมิ” คว้ารางวัล Prix Versailles 2024 สนามบินสวยที่สุดในโลก
วันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม เซเว่นฯ เดินหน้านโยบาย “2 ลด ลดพลาสติก ลดพลังงาน" เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชม. เชิญชวนคนไทย ลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
CP-CPF เคียงข้างคนไทย หนุนโรงครัวใต้ช่วยประชาชนเต็มกำลัง
สอ.รฝ. จัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ เเละวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567
เมืองไทยประกันภัย ร่วมหอการค้าไทย สนับสนุนสร้างอาชีพผู้พิการไทย ต่อเนื่องมากว่า 10 ปี
ดวงถึงฆาต! เฒ่าแคนาดาก้าวเท้าพลาดลื่นบันไดสามขั้นล้มหัวฟาดรูปปั้นนางรำดับคารีสอร์ทหรู
โรงเรียน ธัมมสิริศึกษาสัตหีบ จัดกิจกรรม วันชาติ และ วันพ่อแห่งชาติ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น