ดีเอสไอ ตั้งคณะที่ปรึกษาคดี “ดิไอคอน” พร้อมคุ้มครองพยาน จ่อสรุปสำนวน 25 ธ.ค.นี้
ข่าวที่น่าสนใจ
5 ธ.ค.2567 มีรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (4 ธ.ค.) พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เชิญประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรองหัวหน้า คณะพนักงานสอบสวน และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน คดีดิไอคอน กรุ๊ป โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้แต่งตั้งอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน นางสาวกนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัครเดช วัชรภูพงศ์ รวม 5 ท่าน เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 30 เพื่อให้ข้อแนะนำในการดำเนินคดีและการดำเนินการอื่น เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก คดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานในส่วนของผู้ต้องหา พยานหลักฐานอื่น สรุปพยานหลักฐานและจัดทำรายงานการสอบสวน คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 90 คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 – 25 ธันวาคม 2567 ก่อนครบกำหนดฝากขังครั้งที่หก ในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 เพื่อให้พนักงานอัยการได้มีเวลาในการพิจารณาสำนวนการสอบสวนอีกไม่น้อยกว่า 12 วัน
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้พิจารณาประเด็นที่ปรากฏข่าว กรณีมีคลิปเสียงของทนายความของผู้ต้องหา บางคน มีการพูดคุยในกลุ่มลับ ครอบครัวดิไอคอน ในลักษณะข่มขู่ว่า “รายชื่อผู้กล่าวหาคนที่แจ้งความทั้งหมด จะได้ในสัปดาห์หน้าแน่นอน ทางบริษัทพิจารณาดำเนินคดีกับตัวแทนที่ไปแจ้งความทุกคนในข้อหาแจ้งความเท็จและกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นรับโทษทางอาญา ใครที่อยู่ฝั่งผู้เสียหาย ให้ฟังไว้”
ซึ่งต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนหน้านี้ทนายความดังกล่าวได้ทำหนังสือมาขอรายชื่อพยานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยอ้างว่า จะช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ภายหลังมีการออกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งรับว่า เป็นเสียงของตนเองและชี้แจงว่าการข่มขู่ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่เป็นความผิดอาญานั้น ที่ประชุมเห็นว่า เมื่อมีบุคคลใดมาให้การเป็นพยานในคดีอาญากับพนักงานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการที่จะต้องดำเนินการให้พยานได้รับการปกป้องตามกฎหมายด้วยพฤติกรรมดังกล่าว อันเป็นการกล่าวรวมทำนองว่า จะดำเนินคดีกับพยานทุกคนที่ไปให้การต่อเจ้าหน้าที่รัฐในคดีอาญาฐานแจ้งความเท็จและกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นต้องรับโทษในทางอาญา โดยไม่แยกแยะว่า พยานคนใดที่ให้การไม่ตรงความจริง จะดำเนินคดี จึงอาจเป็นกรณีใช้สิทธิเกินขอบเขตตามปกตินิยม
ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายอาญาและเข้าข่ายไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีมติปฏิเสธการให้รายชื่อพยานเนื่องจากไม่มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งมอบให้ กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบเปิดระบบรับแจ้งข้อมูลและเบาะแสจากผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการกระทำดังกล่าวผ่านระบบ QR Code ที่หน้าเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th เพื่อจะได้พิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา และมอบหมายให้กองกฎหมายพิจารณาความเห็นเสนอ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปเพื่อคุ้มครองพยานในคดีอาญาอันเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน มิให้มีผู้ใดมารบกวนเสรีภาพในการให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ อันเป็นหลักประกันในการดำเนินคดีอาญา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น