“รศ.หริรักษ์” ลั่นไม่ไว้ใจรัฐบาล ปลุกกดดันส่งศาลรธน.วินิจฉัย MOU 44 – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr โดยระบุว่า ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป และเนื้อหาของ MOU 44 เพิ่มมากขึ้นแล้วนะครับ วันนี้เราลองมาดูกันว่า การตัดสินใจเลือกทางเลือกไหนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด
ว่ากันตามจริง MOU 44 ก็มีข้อดีอยู่บ้าง ตรงที่เป็นกรอบที่จะให้ไทยและกัมพูชาเจรจากัน และยังมีการป้องกันสิ่งที่หลายคนกลัวกัน นั่นคือ ใน MOU 44 มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า การเจรจาเรื่องเขตแดน กับเรื่องการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนจะต้องทำไปพร้อมๆกัน จะเจรจาแยกกันไม่ได้ ดังนั้นการจะทำอย่างที่คุณทักษิณพูด คือเจรจาแบ่งผลประโยชน์กัน 50:50 โดยยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเขตแดนนั้น จึงทำไม่ได้ และยังมีข้อความที่ระบุว่า การเจรจาเรื่องการกำหนดอาณาเขตพื้นที่ทางทะเลและไหล่ทวีป ตลอดจนเขตเศรษฐกิจจำเพาะ อันเป็นหน้าที่ของ Joint Technical Committee ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของทั้งสองประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี จุดที่น่ากลัวคือ ทั้งสองฝ่ายที่ได้ลงนามใน MOU 44 ถือว่าได้รับรู้ หรือ recognized แล้วว่า ผลจากการอ้างสิทธิในทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจเฉพาะในอ่าวไทย ที่แตกต่างกันของทั้งสองประเทศ ทำให้เกิดพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน ดังนั้น หากตกลงเรื่องเขตแดนกันไม่ได้ และมีการนำเรื่องนี้ไปสู่ศาลโลกในอนาคต ก็อาจมีการอ้างได้ว่า เราได้รับรู้แล้วว่า มีการอ้างสิทธิในทะเลอาณาเขตและไหล่ทวีปที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิที่ทับซ้อนกัน แต่ไม่ได้เคยทักท้วงหรือคัดค้านแต่อย่างใด จึงอาจถูกฝ่ายกัมพูชานำประเด็นนี้ไปใช้ประโยชน์ในการสู้คดีในศาลได้
ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้น กลับไม่ใช่ตัว MOU 44 เอง แต่กลับเป็นตัวรัฐบาลชุดนี้ ว่าเราสามารถเชื่อได้หรือไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้ จะพยายามอย่างที่สุดที่จะรักษาดินแดนที่ควรเป็นของไทยไว้ให้ได้ ไม่เพียงแต่เกาะกูด แต่รวมทั้งพื้นที่ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชโองการไว้แล้วด้วย เพราะหากทั้งสองฝ่ายเจรจาทั้งเรื่องเขตแดนและเรื่องผลประโยน์ไปพร้อมๆกัน แล้วตกลงกันว่า จะแบ่งกัน 50:50 ทั้งอาณาเขต และทั้งผลประโยชน์จากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน เช่นนี้ ไม่ได้ขัดกับ MOU 44 แต่จะทำให้ประเทศชาติเสียดินแดนที่ควรเป็นของเรา และยังเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนกับพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วย
ถามว่า เราจะไว้ใจรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่ ดูจากพฤติการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น กล่าวคือ สมเด็จ ฮุนเซ็น เดินทางมาเยี่ยมคุณทักษิณ ชินวัตรทันทีที่ได้รับการพักโทษให้ไปอยู่ที่บ้านได้ คุณแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชา และได้มีการพูดคุยกับฮุน มาแณต นายกรัฐมนตรี คุณทักษิณไปพูดในงาน Dinner Talk ว่าไทยควรจะแบ่งผลประโยชน์กัน 50:50 กับกัมพูชา และเมื่อคุณแพทองธารไปประชุมสุดยอดอาเซียนที่ สปป ลาว ในขณะที่สื่อมวลชนไทยไม่ได้เสนอข่าว แต่ กลับเป็น Bloomberg ที่เสนอข่าวว่า นายกรัฐมนตรีของไทยได้เจรจาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรื่องการแบ่งผลประผลประโยชน์บนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในอ่าวไทย หลังจากนั้นรัฐบาลไทยก็เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่