ABC ออสเตรเลียและฟ็อกซ์นิวส์รายงานว่านายทิม นิโคลส์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลียได้ออกมาแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา (2567) โดยมีคำสั่งให้สอบสวนกรณีที่ตัวอย่างไวรัสอันตรายจำนวน 323 ตัวอย่างหายไปจากห้องปฎิบัติการไวรัสวิทยาควีนแลนส์ในปี 2564 หรือ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยเชื้อไวรัสเฮนดร้า 98 ตัวอย่าง, ไวรัสลิซซ่า 223 ตัวอย่างและไวรัสฮันต้า 2 ตัวอย่าง
รายงานเผยว่าตัวอย่างไวรัสเหล่านี้ได้หายไป หลังจากที่ตู้แช่แข็งที่ใช้เก็บตัวอย่างไวรัสเกิดเสีย ซึ่งเรื่องเพิ่งมาแดงเอาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ( 2566 ) ซึ่งเจ้าหน้าที่่ห้องแล็ปไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่ามีใครขนย้ายเอาตัวอย่างไวรัสออกไปไว้ที่อื่นเนื่องจากตู้แช่แข็งเสีย หรือขนย้ายไปทำลาย ขณะที่เอกสารจดบันทึกก็ไม่มีการบันทึกเกี่ยวกับการขนย้ายไวรัสเหล่านี้แต่อย่างใด สร้างความวิตกว่าตัวอย่างไวรัสอาจถูกขโมยไป ซึ่งนิโคลส์ชี้ว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ด้านความมั่นคงทางชีวภาพ และไวรัสทั้ง 3 ตัวถือเป็นไวรัสชนิดอันตราย
ไวรัสเฮนดร้าเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน เกิดขึ้นกับม้าเป็นส่วนใหญ่ โดยปี 2537 ไวรัสเฮนดร้าเกิดระบาดในม้าแข่งที่เมืองบริสเบน ทำให้ผู้ฝึกเสียชีวิตและม้าตายไป 13 ตัว จากนั้นก็ระบาดไปทั่วออสเตรเลีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คนและม้าตายไปหลายสิบตัว
ไว้รัสลิสซ่า มีลักษณะคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาก็ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งคนและสัตว์
ไวรัสฮันตาเป็นไวรัสที่ติดต่อในสัตว์หรือติดต่อจากสัตว์สู่คนอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากหนูและแพร่กระจายในมูล ปัสสาวะ และน้ำลายของหนู หากมนุษย์ติดเชื้อ จะทำให้เกิดอาการเป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย และปอดเต็มไปด้วยของเหลว ตามข้อมูลของศุนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ไวรัสนี้มีอันตรายถึงชีวิตประมาณ 38%
อย่างไรก็ตาม ดร.จอห์น เจอร์ราด หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าวว่าแม้ว่าการหายไปของตัวอย่างไวรัสถือเป็นเรื่องร้ายแรง และไม่ควรเกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงที่ไวรัสที่เป็นอันตรายต่อสาธารณชนถือว่าน้อยมาก เพราะเชื้อไวรัสจะเสื่อมความรุนแรงลงอย่างรวดเร็วหลังจากถูกนำออกจากตู้แช่แข็ง โอกาสการแพร่เชื้อจึงต่ำมาก นอกจากนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสเฮนดร้าและลิสซ่าในรัฐควีนแลนด์ ส่วนไวรัสฮันตาไม่เคยมีรายงานการระบาดในมนุษย์ในออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตามดร.พอล กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อออสเตรเลียออกมาตำหนิว่าเรื่องร้ายแรงแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น และทางห้องแล็ปต้องออกมาชี้แจงเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นอกจากนี้ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยมีอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นหัวหน้าคณะสอบสวนว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ห้องแล็ปไปปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องหรือไม่และทำไมจึงมีการแจ้งเตือนประชาชนล่าช้าถึง 2 ปี