ประมงจังหวัดสงขลา และ ประมงจังหวัดพัทลุง ตระหนักถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่ประมงทั้งสองจังหวัดลงพื้นที่ดูแลเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย พร้อมกับตรวจติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในทะเลสาบสงขลา สร้างการรับรู้ และร่วมมือกับชาวประมงพื้นบ้านจัดชุดปฏิบัติการสำรวจปลาหมอคางดำในทะเลสาบสงขลาหลังน้ำท่วมคลี่คลาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นวาไม่พบปลาหมอคางดำในทะเลสาบสงขลา
นายภูษิต จันทร์เพชร ประมงจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ประมงจังหวัดพัทลุงตระหนักดีถึงความกังวลใจของประชาชนและชาวประมงพื้นบ้านว่าสถานการณ์น้ำท่วมอาจเป็นปัจจัยให้เกิดการพัดพาปลาหมอคางดำลงสู่ทะเลสาบสงขลา โดยฝั่งจังหวัดพัทลุงได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ประมงบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดดูแลเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว พร้อมกับประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักว่ามีโอกาสที่ปลาหมอคางดำหลุดเข้าทะเลสาบสงขลา ประมงจังหวัดจัดชุดปฏิบัติการสำรวจปลาหมอคางดำ และขอความร่วมมือกับชาวประมงพื้นบ้านช่วยกันสอดส่องในพื้นที่บริเวณทะเลสาบสงขลา หากพบให้ดำเนินการตามมาตรการ “เจอ แจ้ง จับ จบ” ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งพบปลาหมอคางดำในทะเลสาบสงขลา
ก่อนหน้านี้ในช่วงฝนตกชุก ประมงจังหวัดพัทลุงปล่อยลูกพันธุ์ปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้ว จำนวน 8,000 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงในแหล่งน้ำที่พบปลาหมอคางดำ รวมทั้งแหล่งน้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา เป็นรอยต่อกับอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นการสร้างแนวกันชนเชิงป้องกันหากมีปลาหมอคางดำหลุดเข้ามาในช่วงที่น้ำหลาก ขณะเดียวกัน ปลากะพงขาวยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการติดตามเฝ้าระวังปลาหมอคางดำอีกทางหนึ่ง
ด้านจังหวัดสงขลา นายเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยครอบคลุมหลายอำเภอ ประมงจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่กองตรวจการประมงออกปฏิบัติหน้าที่เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและอาสาสมัครตั้งจุดประกอบอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง รวมทั้งแจกจ่ายอาหารปรุงสุก และน้ำดื่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ประมงจังหวัดสงขลาไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องปลาหมอคางดำ โดยร่วมมือกับประมงอำเภอระโนด และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา ชมรมกุ้งอำเภอระโนด ผู้นำชุมชนเฝ้าระวังแหล่งน้ำในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือกับผู้นำชุมชนดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำตามมาตรการ “เจอ แจ้ง จับ จบ” พร้อมกับส่งเสริมการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นอาหาร โดยก่อนเกิดอุทกภัย ประมงอำเภอระโนดร่วมกับซีพีเอฟ ปล่อยปลากะพงขาว ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 10,000 ตัว ลงในแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอระโนด เพื่อควบคุมปลาหมอคางดำในพื้นที่และเป็นแนวกันชนป้องกันปลาหมอคางดำขยายวงออกไปสู่ทะเลสาบสงขลา
นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประมงอำเภอระโนดยังได้สนับสนุนกากชาแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อนำไปกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำหลุดออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงที่ฝนตกชุก ระดับน้ำในลำคลองเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ประมงจังหวัดพัทลุงและสงขลาได้ดำเนินการมาตรการเชิงป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้น โดยมีการติดตามเฝ้าระวังเป็นประจำ พร้อมกับสร้างการรับรู้ว่าปลาหมอคางดำมีประโยชน์สามารถนำมาใช้บริโภคได้ และใช้ประโยชน์ได้ โดยประมงจังหวัดมีแผนที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำมาทำน้ำหมักชีวภาพเป็นปุ๋ยแจกให้เกษตรกร รวมทั้งหาแนวทางส่งเสริมจับปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์และจัดการที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรักษาความหลากหลายของระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนต่อไป