วิกฤติการเมืองเกาหลีใต้ส่อเค้ายืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน เมื่อประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ออกมาแถลงทางโทรทัศน์ ในเช้าวันนี้ (12 ธันวาคม) แสดงเจตนาไม่ลาออก และจะต่อสู้ข้อกล่าวหาก่อกบฏ จากการประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคมต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 4 ก่อนยกเลิกตามมติของรัฐสภา
ผู้นำเกาหลีใต้ วัย 63 ปี กล่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึก เป็นมาตรการหนึ่งในการบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่ประเด็นที่จะเปิดสอบสวนได้ และไม่เข้าข่ายก่อกบฏ เป็นไปเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยเสรี และระเบียบรัฐธรรมนูญ ขณะเผชิญหน้ากับพรรคฝ่ายค้าน ที่ประธานาธิบดียุน ย้ำว่า เป็นกองกำลังต่อต้านรัฐ ใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติขัดขวางการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย ที่จะเปิดทางลงโทษชาวต่างชาติฐานมีพฤติกรรมเป็นสายลับ เข้าข้างเกาหลีเหนือ และจ้องตัดลดงบประมาณอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งที่เป็นแผนการที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ประธานาธิบดียุน กล่าวประณามรัฐสภา ภายใต้การครอบงำของพรรคฝ่ายค้าน ว่ากลายเป็นปีศาจทำลายระบอบประชาธิปไตยเสรี และเป็นวิกฤติของชาติ เขาจะต่อสู้กับประชาชนจนถึงนาทีสุดท้าย เพื่อป้องกันกองกำลังและกลุ่มอาชญากร ที่ทำให้การบริหารประเทศต้องเป็นอัมพาต และคุกคามอนาคตของสาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ ยืนยันว่า จะไม่หนีความรับผิดทางกฎหมาย และความรับผิดชอบทางการเมือง แม้ว่าเมื่อวานนี้ ตำรวจถูกรปภ.ขัดขวางไม่ให้เข้าตรวจค้นในสำนักงานของยุน ขณะสอบสวนข้อหากบฏ
การออกมาแถลงของยุน ซอก ยอล มีขึ้นหลังจากพรรคฝ่ายค้าน ประกาศยื่นญัตติถอดถอดครั้งที่สอง และมีแผนเสนอให้สภาจัดให้มีการลงมติในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม เวลา 17 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 15 นาฬิกาตามเวลาในบ้านเรา หลังจากความพยายามผลักดันมติถอดถอนครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ล้มเหลว เพราะ ส.ส.รัฐบาลบอยคอต
ล่าสุด ฮัน ดอง ฮูน ประธานพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ยืนยันว่า ประธานาธิบดียุน ไม่ประสงค์เข้าร่วมแผนการลาออกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่พรรคเสนอไป ดังนั้น กระบวนการถอดถอน หรือ อิมพีชเมนต์ เป็นหนทางเดียวที่จะพักการทำหน้าที่ของประธานาธิบดีได้ เขาย้ำให้ ส.ส.ของพรรค ต้องเข้าร่วมโหวตญัตติถอดถอนในวันเสาร์นี้ โดยใช้วิจารณญาณของตนเอง
สื่อเกาหลีหลายสำนักรายงานว่า ประธานาธิบดียูน ที่เวลานี้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยข้อหากบฏ และถูกห้ามเดินทางไปต่างประเทศ ได้เลือกเผชิญกระบวนการถอดถอน แทนออกจากตำแหน่งโดยสมัครใจ โดยมีความคาดหวังว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เวลานี้ยังว่างอยู่ 3 คนจากทั้งหมด 9 คน จะปฏิเสธมติถอดถอน
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า ตุลาการอย่างน้อย 6 คนจาก 9 คน จะต้องวินิจฉัยเห็นด้วย มติถอดถอนของสภาจึงจะมีผล ไม่แน่ชัดว่าจะมีการตั้งตุลาการอีก 3 คนที่ว่างอยู่หรือตามที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่หากเป็นตุลาการที่มีแค่ 6 คน นั่นหมายความว่า ทั้ง 6 คนจะต้องเห็นไปตามเดียวกัน หากมีตุลาการเพียง 1 คนเห็นแย้ง การถอดถอนก็จะตกไป ขณะที่ประธานาธิบดียุน ซึ่งเป็นอัยการเก่า เชื่อว่าการประกาศกฎอัยการศึก ที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในความวุ่นวายและการประท้วง เป็นไปโดยชอบตามกฎหมาย