เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 67 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และ รัฐบาล เรื่อง คำมั่นสัญญาที่จะแก้ไขปัญหาปากท้องของผู้ใช้แรงงานและประชาชน ถึงเวลา…ต้องทำทันที โดยมีเนื้อหาดังนี้
สืบเนื่องจากการบริหารประเทศของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 แม้ว่านายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้จะพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเงื่อนการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาก็มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเพื่อไทยเช่นกัน คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งหากพิจารณา ดูจากการชูนโยบายในการหาเสียงก็จะเน้นไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและผู้ใช้แรงงาน เช่น เรื่อง ค่าจ้าง 600 บาทต่อวัน จะลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ค่าน้ำมัน ทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล แต่จนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมานานก็ยังไม่เห็นรูปธรรมความชัดเจนต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน รวมทั้งการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่แถลงไปหลายเรื่องยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนเช่นกัน
ในภาคการเมืองล้วนเต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจ เปลี่ยนข้างสลับขั้ว เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยปราศจากเรื่องราวที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศ แก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน ในขณะที่การทุจริตก็ขยายเป็นวงกว้างในหมู่นักการเมืองและเครือข่ายทั้งระดับประเทศ และ ท้องถิ่นรวมทั้งข้าราชการระดับสูง ยิ่งกว่าในยุคใด ๆ กระทำกันอย่างโจ่งแจ้งไม่เกรงกลัวต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม บางกรณีแม้แต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ยังสามารถใช้อิทธิพล อำนาจ เพื่อให้ตนเองพ้นผิด หรือกอบโกยผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องอย่างน่าสังเวชใจ อีกทั้งประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง ต้องสูญเสียเงิน เสียชีวิต โดยปราศจากมาตรการในการป้องกันที่ดีพอ ความรับผิด ความเดือดร้อนจึงตกอยู่กับประชาชน
ในส่วนของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมมีจำนวนสูงถึง 41 ล้านคน จากประชากรของประเทศ 67 ล้านคน ซึ่งมีทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการ ภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ และยังมีแรงงานข้ามชาติกว่า 4 ล้านคน คนเหล่านี้อยู่ในสภาวะความยากจน แทบไร้หลักประกันในการดำเนินชีวิต ทั้งความมั่นคง ความปลอดภัยในการทำงาน ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ จำนวนไม่น้อยที่ต้องตกงาน ว่างงาน ไร้อาชีพ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย แม้ว่ารัฐบาลจะค้นหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาแต่ก็เป็นไปแบบชั่วคราว ไร้ทิศ ผิดทาง เช่น การแจกเงินแก่ประชาชน การดึงนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาแลกกับสิทธิพิเศษมากมาย เช่น การยกเว้นภาษี ให้เช่าที่ดินได้ ๙๙ ปี ในขณะที่คนไทยจำนวนมากยังไร้ที่ดินทำกิน โดยหวังที่จะทำให้เกิดการจ้างงานแต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปรากฏการณ์การเลิกจ้าง ปิดกิจการของสถานประกอบการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสถานประกอบการเกือบทั้งหมดที่ยังเปิดกิจการอยู่ รวมทั้งการจ้างงานภาครัฐทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจก็เลือกที่จะจ้างคนงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว ระยะสั้น ค่าจ้างที่ต่ำ ต้องทำงานหนัก ทำให้คนงานแทบไม่มีหลักประกันใด ๆ ที่ทำให้ชีวิตของตนเองและครอบครัวมีความมั่นคง
ในขณะที่หน่วยงานของรัฐ คือ รัฐวิสาหกิจ ที่พอจะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ผู้ใช้แรงงานและ ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดี ราคาที่เป็นธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันก็ถูกแปรรูปยกกิจการให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนเอกชน ครอบคลุมทั้งกิจการพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า การคมนาคม ขนส่ง การสื่อสาร โทรคมนาคม เป็นต้น และเมื่อยกกิจการให้เอกชนไปแล้วตามสัญญารัฐบาลก็ไม่สามารถควบคุมราคาได้ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในราคาที่แพง
สถานการณ์ที่กล่าวมา มิได้กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยมีหลักฐานในเชิงประจักษ์มากมายที่ปรากฏในสื่อสาธารณะทั่วไปและสื่อออนไลน์ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง และเศรษฐกิจ อันเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาทางสังคม การทุจริต ความยากจน ความเหลื่อมล้ำเกิดความสูญเสียโอกาสและความสามารถของประเทศ การแก้ปัญหาแบบชั่วคราวตัดแปะจึงไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติและประชาชนได้ ในส่วนของประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม คือ ภาคส่วนของผู้ใช้แรงงาน จึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้