และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการอุปถัมภ์กิจการของศาสนา ด้วยพระราชหฤทัยอันเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความสำคัญของศาสนา
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านศาสนานานัปการ ด้วยความเลื่อมใสและพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา กับทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองและธำรงไว้อย่างมั่นคงถาวรสืบไป
“พระเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระธาตุเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระทาฐธาตุ” คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็น “เขี้ยว” ของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น
ซึ่งตามตำนานพระเขี้ยวแก้ว จากพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”
ปัจจุบันมีพระเขี้ยวแก้วเพียง ๒ องค์ บนโลกมนุษย์เท่านั้น คือ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา” ประเทศศรีลังกา และ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย” ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายไปประดิษฐานยังประเทศต่าง ๆ รวม ๖ ครั้ง
โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวครั้งแรกในประเทศไทย ที่ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ทั้งนี้ เนื่องเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี ๒๕๖๘
รัฐบาลจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งองค์พระเขี้ยวแก้วมีความยาวประมาณ ๑ นิ้ว ประดิษฐานในพระสถูปทองคำประดับอัญมณีล้ำค่าตามลักษณะศิลปกรรมแบบจีน
มาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ณท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ – ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ เวลา ๐๗.๐๐ – ๒๐.๐๐ น.