ถกกันอื้ออึงในมาเลเซีย อันวาร์ตั้งทักษิณ กุนซือไม่เป็นทางการ

สื่อสิงคโปร์รายงานข่าวเรื่องที่ นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปีหน้า ว่าเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่ายในประเทศ

 

หนังสือพิมพ์ สเตรทสไทม์ สื่อสิงคโปร์ รายงานเรื่องนี้ โดยรวบรวมความเห็นของฝ่ายการเมืองและในแวดวงวิชาการในมาเลเซีย และสิงคโปร์   ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ ในการดึงประสบการณ์ของอดีตผู้นำของไทยวัย 75 และบิ๊กเนมทางการเมืองคนอื่น ๆ มาเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งตามรายงานจากมาเลย์ เมล์ สื่อในมาเลเซีย ระบุว่า จะมีอดีตผู้นำอาเซียนอีกจำนวนหนึ่ง เช่น จอร์จ เยียว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศมากประสบการณ์ของสิงคโปร์ มาร่วมทีมด้วย

 

แต่อีกส่วนคลางแคลงใจ เหตุใดต้องหันไปหาคำแนะนำจากนักการเมืองต่างชาติ ทั้งยังเป็นบุคคลที่มีประเด็นโต้แย้งอย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว หลังจากลี้ภัยกว่า 10 ปีเพื่อหลบเลี่ยงข้อหาทางอาญา และต้องคำพิพากษาความผิดคดีทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบ

 

กระนั้น เจ้าหน้าที่มาเลเซียและนักวิเคราะห์ มองภาพรวมว่า อิทธิพลของอดีตนายกฯทักษิณ ไม่ได้อยู่แค่ในไทย แต่ยังมีในสหรัฐฯและจีน ซึ่งจุดนี้อาจช่วยให้อาเซียน รับมือความท้าทายต่าง ๆ อย่างเช่น ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน หรือข้อพิพาทดินแดนในทะเลจีนใต้

 

สำนักเบอร์นามา อ้างถ้อยแถลงของ โมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ระหว่างแถลงข่าวเรื่องการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ว่า อดีตนายกฯทักษิณนั้น มีอิทธิพลในประเทศไทย เป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน จึงเป็นสะพานเชื่อมอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

แต่ อาหมัด ฟัดห์ลี ชารี หัวหน้าฝ่ายสื่อของ พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพรรคปาส พรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย ชี้ว่า การตั้งที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของอันวาร์ เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และตั้งคำถามว่า จะยังประโยชน์แก่อาเซียนหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีบนเวทีระหว่างประเทศ

 

อาหมัด ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ผู้นำมาเลเซีย เลือกอดีตผู้นำประเทศอื่น มาเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ปกติ ผู้นำจะเลือกผู้เชี่ยวชาญการทูต อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือ นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาเป็นที่ปรึกษา มาครั้งนี้ อันวาร์เลือกอดีตผู้นำที่เคยถูกตัดสินจำคุกในประเทศตัวเอง ฐานทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบ

 

ด้าน มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย บอกนักข่าวที่ปุตราจายา เมื่อวาน (17 ธันวาคม) ว่า “ผมไม่รู้ว่าทำไม อันวาร์ จึงเลือกทักษิณ เรามีคนมากมากให้เลือก และทักษิณก็มีประเด็นกฎหมายของตัวเอง แต่อันวาร์ก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งใครก็ได้ที่ต้องการ”

 

สเตรทสไทมส์ ยังสอบถามความเห็นนักวิชาการ เช่น ดร. โอห์ เอ ซุน ( Oh Ei Sun ) จากสถาบันระหว่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมองว่า การเลือกของอันวาร์ อาจเป็นการแสดงออกถึงไมตรีจิตและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับเพื่อนบ้าน ส่วน ดร. ออง เคียน หมิง รองอธิการบดีฝ่ายการมีส่วนร่วมภายนอก มหาวิทยาลัย เทเลอร์ส ในมาเลเซีย กล่าวว่า ประสบการณ์ของทักษิณอาจช่วยให้อันวาร์ บรรลุเป้าหมายบางเรื่องในกรอบของอาเซียนได้ อาทิ แผนสันติภาพเมียนมา หรือเข้าถึงสมาชิกในทีมบริหารของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม เพื่อบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนของมาเลเซียที่มีต่อจีนและรัสเซีย

 

กัสทูรี เปรมสวาเรน ( Kasthuri Prameswaren) จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ เห็นพ้องในแง่ที่ว่า ทักษิณจะเป็นพันธมิตรที่ช่วยอันวาร์ ผลักดันสันติภาพในเมียนมาได้ ทั้งสองยังมีความวิตกร่วมกัน เกี่ยวกับปัญหาความไม่พอใจของชาวไทยมุสลิม ลัทธิสุดโต่ง และอาชญากรรมข้ามชายแดน แต่หากมองมุมทางการเมือง เป็นเรื่องแปลกที่อันวาร์ หันไปหาผู้นำต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาอาเซียน แม้จะบอกว่า “แบบไม่เป็นทางการ” ก็ตาม แทนที่จะใช้นักการทูตหรือผู้เชี่ยวชาญของตัวเอง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ดร. ออง เคียน หมิง รองอธิการบดีฯ มหาวิทยาลัย เทเลอร์ส ในมาเลเซีย เสริมประเด็นนี้ว่า การทำเช่นนี้อาจเป็นจุดอ่อนก็ได้ หากถูกมองว่า อันวาร์ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจคณะรัฐมนตรีของตัวเเอง และข้าราชการของมาเลเซียเอง ในความสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในระหว่างที่มาเลเซียทำหน้าที่ประธานอาเซียน กระนั้น ยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น บทบาทของที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ น้ำหนักต่อการตัดสินใจของอาเซียน และอะไรที่สิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากอันวาร์ แลกกับการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ

 

ขณะที่ ดร. ซูเฟียน ยูเซาะห์ ศาสตราจารย์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ สถาบันระหว่างประเทศและมาเลเซียศึกษา มหาวิทยาลับ เคบังซาน ไม่เห็นด้วยกับทัศนะที่ว่า การตัดสินใจของอันวาร์ เป็นการดิสเครดิตตัวเอง ครม. และรัฐบาล แต่กลับมองว่า ความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อพิจารณาถึงภาระอันหนักอึ้งมากมาย ที่มาเลเซียต้องแบกรับในฐานะประธานอาเซียน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภายใต้การนำของทรัมป์ ความสัมพันธ์กับรัสเซีย และวิกฤติเมียนมา การตั้งกลุ่มที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่มาเลเซียต้องการความคิดความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้คำแนะนำรัฐบาลและข้าราชการ และว่าฝ่ายค้านจำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องใหญ่ ๆ ที่กำลังเข้ามาหามาเลเซียในปี 2025

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น