(21 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเย็นวานนี้ (20 ธ.ค.) นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย พลตำรวจตรีสมชาย ซื่อต่อตระกูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสายัน กิจมะโน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และนายจิรวัฒน์ ปลอดวงศ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นบินสำรวจความเสียหายของพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ
ซึ่งประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากเหตุการณ์มวลน้ำจากเทือกเขากรุงชิงและดินโคลนไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ส่งผลให้มีบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านเปียน หมู่ 4 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ เสียหายหลายร้อยหลัง และในหมู่ 7 หมู่ 8 ต.กรุงชิง ถนนและสะพานขาดตัดขาดการสัญจรกับโลกภายนอก และยังพบว่ามีบางจุดชาวบ้านต้องใช้เชือกป่านขึงข้ามลำคลองและใช้รอกผูกตะกร้า ก่อนก้าวไปนั่งในตะกร้าชักลาก สัญจรข้ามคลองอย่าง ทุลักทุเล โดยนายอำเภอนบพิตำ พร้อมผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยบ้านบางหลังถูกน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้านและมีดินโคลนและซากซากต้นไม้ไหลเข้าทับบ้านและรถยนต์เสียหายจำนวนมาก ซึ่ง ดร.อัครเดช (อำนวย) ยุติธรรม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (คนที่ 1) ได้ระดมกำลังคนและเครื่องจักรกลหนักและวัสดุอุปกรณ์ของ อบจ.นครศรีธรรมราช เข้าไปเร่งปรับเส้นทางให้รถสามารถสัญจรไปมาได้ชั่วคราว ก่อนที่ถนนและสะพานจะได้รับการซ่อมแซมหรือก่อสร้างใหม่ ในขณะที่วัดในพื้นที่หลายแห่งได้รับความเสียหาย อย่างหนักเช่นกัน
รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่องค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือและบริหารสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้น โดยได้ประสานภาคเอกชน มูลนิธิกู้ชีพกู้ภัยและมูลนิธิเพื่อการกุศลในพื้นที่และจากต่างจังหวัดเข้าสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นวงกว้างครอบคลุมทั้ง 23 อำเภอของจังหวัด ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อร่วมให้กำลังใจ ติดตามดูแลความเป็นอยู่อาหารการกิน ติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประสบภัย ส่วนการให้ความช่วยเหลือนั้นได้บูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงาน ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ เข้าสนับสนุนอย่างเต็มที่ การขอสนับสนุนกำลังพล เครื่องมืออุปกรณ์ ทั้งจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กองทัพภาคที่ 4 หน่วยงานซ่อมสร้าง กรมทางหลวงชนบท องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเร่งดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า อย่างยิ่งเรื่องถนนและเส้นทางต่าง ๆ เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตร และพืชเศรษฐกิจทุเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุเรียนที่ส่งออกไปยังตลาดในต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้ระบบขนส่งเพื่อลำเลียงผลผลิตสู่ตลาดอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้จากข้อมูลของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช 2567 ระบุในพื้นที่อำเภอนบพิตำ มีพื้นที่ประสบภัยรวม 4 ตำบล 38 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,930 ครัวเรือน 19,110 คน ประกอบด้วย ในพื้นที่ตำบลกะหรอ เกิดสถานการณ์ในพื้นที่หมู่ที่ 1,2,3,4,5,6,7,8 และหมู่ที่ 9 ,ตำบลกรุงชิง ในพื้นที่หมู่ที่ 1,2,3,4,5,6,7,8,9,10 และหมู่ที่ 11 และอพยพโรงเรียนบ้านเปีย ม.4 จำนวน 38 คน, ศูนย์อพยพ อบต.กรุงชิง จำนวน 64 คน, ศูนย์อพยพศาลาหมู่บ้านห้วยพาน ม.2 จำนวน 25 คน , พื้นที่ตำบลนาเหรง หมู่ที่ 1,2,3,4,5,6,7,8 และหมู่ที่ 9 และในพื้นที่ตำบลนบพิตำ หมู่ที่ 1,2,3,4,5,6,7,8 และหมู่ที่ 9 และศูนย์อพยพศาลาประชาคมอำเภอนบพิตำ ม.1 จำนวน 18 คน
นายณรงค์ฤทธิ์ จุลหริก เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ ใน ตำบลนบพิตำ อ.นบพิตำ กล่าวว่า ฝนตกต่อเนื่องทั่วบริเวณหุบเขาต้นน้ำและพื้นที่ราบสูงราบลุ่มหลายวันติดต่อกัน ทำให้มวลน้ำจากสาขาต่าง ๆไหลลงสู่คลองกลาย โดยในวันที่15 ธันวาคม ฝนตกต่อเนื่องตลอดวันตลอดคืน จนเที่ยงคืนของวันที่16 ธันวาคม มวลน้ำจำนวนมากในลุ่มน้ำคลองกลายกัดเซาะแนวตลิ่งพื้นที่หมู่ 1-7-8 ตำบลนบพิตำ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช จนตลิ่งพัง และถนนคอนกรีต เสาไฟฟ้าประมาณ 3 เสา หักล้มทำให้อู่ซ่อมรถของตน รีสอร์ทหรูและบ้านที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่เสียหายจมหายไปกับมวลน้ำ จนทำให้ไฟฟ้าดับระบบการสื่อสารล่มทั้งระบบ
ในขณะที่พื้นที่หมู่ 1 ตำบลนบพิตำ บริเวณใกล้หัวสะพานคลองกลาย มีบ้านเรือนและอู่ซ่อมรถที่ตั้งอยู่ห่างแนวตลิ่งคลองกลายประมาณ 50 เมตรไปถึง 20 เมตร จมหายไปกับน้ำคลองกลายประมาณ 5 หลังกับอู่ซ่อมรถ 1 แห่ง ถนนคอนกรีตขาดตัดขาดการสัญจร และเสาไฟฟ้าหักล้มระเนระนาด สำหรับอู่ซ่อมรถของตนมูลค่าความเสียหายทั้งโรงเรือนและเครื่องมืออุปกรณ์ในอู่ มีความเสียหายประมาณ 200,000 บาท
โดยสรุปอุทกภัยปี 2567 ในครั้งนี้ นอกจากมวลน้ำมหาศาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และไหลลงสู่ลุ่มน้ำคลองกลายและซัดกัดเซาะแนวตลิ่งพังเสียหายยับยิน สาเหตุหลักอาจจะมาการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศลุ่มน้ำคลองกลายจากฝีมือมนุษย์ด้วยก็เป็นได้