Top news รายงาน จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. กรมราชทัณฑ์ได้รับตัวนายสุนทร วิลาวัลย์ หรือ โกทร อายุ 85 ปี กับพวกรวม 7 ราย เข้าคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ที่เรือนจำจังหวัดนครนายก เนื่องด้วยศาลยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวในข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จากเหตุการณ์การเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนของนายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง เมื่อคืนวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ภายในบ้านพักของนายสุนทร
ต่อมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. มีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีจาก สภ.เมืองปราจีนบุรี มายังกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) หลังจากก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี และตำรวจภาค 2 สืบสวนสอบสวนรวบรวมหลักฐานมาได้แล้วระยะหนึ่ง
กระทั่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ออกมาเปิดเผยว่า หากสำนวนถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการปราบปราม ในส่วนของนายสุนทร ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนครนายก ก็จะถูกย้ายตัวมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ ( 21 ธ.ค.) ที่ ประธานพิธีเปิดงานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ปี 2 ณ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการเฉลิมเกียรติ 80 พรรษา ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางร่วมเปิดงานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ปี 2 ก่อนเปิดเผยถึงกรณีการเตรียมย้ายนายสุนทร วิลาวัลย์ และพวก จากเรือนจำจังหวัดนครนายก มายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า สำหรับการย้ายตัวนายสุนทร และพวกนั้น ปกติจำเลยหรือผู้ต้องหา หากศาลยังไม่ตัดสินถือเป็นผู้ต้องหา จะอยู่กับเขตอำนาจพนักงานสอบสวน
แต่ถ้าเป็นคดีของกองบังคับการปราบปราม ซึ่งเขตอำนาจของกองปราบฯ มีทั่วประเทศ กองปราบฯ อาจใช้เรือนจำจังหวัดนครนายกก็ได้ แต่ต้องดูว่ากองใดของกองปราบฯ จะเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการโอนสำนวนมาที่กรุงเทพฯ แต่ว่าด้วยความที่อำนาจของกองปราบฯ มีทั่วประเทศ ก็อาจจะไม่โอนมาก็ได้ ทั้งนี้ ต้องไปสอบถามทางกองปราบฯ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า การขอโอนย้ายตัวผู้ต้องหาจากพื้นที่หนึ่งไปคุมขังยังอีกพื้นที่หนึ่งนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องส่งเอกสารทำเรื่องการขอย้ายตัวผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดนครนายก แล้วศาลจึงจะมีคำสั่งโอนย้าย โดยการโอนย้ายตัวผู้ต้องหาจะต้องย้ายทั้งหมด เพราะอยู่ในสำนวนเดียวกัน
ส่วนเงื่อนไขการเยี่ยมญาติ ราชทัณฑ์มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะเรือนจำไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ดังนั้น การเยี่ยมญาติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี เราก็อยากให้มีการเยี่ยมญาติมากขึ้น เพราะผู้ต้องหายังมีความจำเป็นต้องต่อสู้คดี จึงต้องมีการพบทนายความและได้พบบุคคลที่สามารถให้ข้อมูลได้