“ปลาหมอคางดำ” แก้เป็นระบบเดินหน้าครบ 5 มาตรการ จบปัญหา หนุนคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศ 

"ปลาหมอคางดำ" แก้เป็นระบบเดินหน้าครบ 5 มาตรการ จบปัญหา หนุนคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศ 

ปลาหมอคางดำ หรือ Sarotherodon melanotheron (Blackchin Tilapia) เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปี 2567 จากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เกิดจากการแพร่กระจายของปลาชนินี้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและรอบด้าน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นสองส่วนหลักในปัจจุบัน ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของปลา และการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและต้องใช้เวลา

ปัจจุบัน กรมประมงได้กำหนดแผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำครอบคลุม 5 ขั้นตอนสำคัญ เพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและโปร่งใส โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นมาตรการเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้

มาตรการเร่งด่วน

– ควบคุมและลดประชากรปลาหมอคางดำ ดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน พร้อมสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความเสี่ยง

– สร้างความตระหนักรู้และการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของปลาหมอคางดำและแนวทางการแก้ไขแก่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

– สร้างเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

ข่าวที่น่าสนใจ

มาตรการระยะกลาง

– ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกงและปลาช่อน รวมถึงพันธุ์สัตว์น้ำอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยตั้งเป้าปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าปลาหมอคางดำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ปลาป่น น้ำหมักชีวภาพ และเมนูอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

 

มาตรการระยะยาว

– วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ดำเนินการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การเหนี่ยวนำโครโมโซม 4N เพื่อทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน การใช้ฟีโรโมน และแสงสีในการควบคุมประชากรปลาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2567-2570

– นวัตกรรมการควบคุมเชิงนิเวศ ใช้เทคโนโลยีสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาเพื่อการกำจัดที่ตรงเป้าหมาย ลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบความสำเร็จในการลดจำนวนปลาหมอคางดำอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ลดจำนวนปลาจาก 60 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร เหลือ 25 ตัว จังหวัดเพชรบุรี ลดจำนวนจาก 80 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร เหลือไม่ถึง 40 ตัว ด้านจังหวัดสมุทรสาคร ปลาลดลงไป 60-70% ขณะที่จังหวัดสมุทรสงคราม ปลาที่จับได้เป็นปลาขนาดเล็ก และสามารถจับปลาหมอคางดำใน 18 จังหวัด ได้มากกว่า 3 ล้านกิโลกรัม ในจำนวนนี้นำไปทำเป็นปลาป่นแล้ว 2 ล้านกิโลกรัม ส่วนที่เหลือทำน้ำหมักชีวภาพสำหรับสวนยางพาราและพืชอื่น และยังคงมีการดำเนินงานกำจัดต่อเนื่อง

กรมประมงยังคงเดินหน้าเชิงรุกเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดจำนวนปลาหมอคางดำให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร พร้อมสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำ เช่น การทำปลาร้าและน้ำปลา โดยร่วมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ต้องขังตลอดจนชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

 

ปัจจุบัน แผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำของกรมประมงเดินหน้ามาถึงมาตรการระยะกลาง การปล่อยปลาผู้ล่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลากะพง ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยในปี 2567 ได้บรรลุเป้าหมายปล่อยปลาผู้ล่าจำนวน 200,000 ตัว รวมถึงการเตรียมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจแหล่งที่อยู่ของปลาในแหล่งน้ำ เพื่อให้กำจัดปลาได้ตรงเป้าหมายและควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ตลอดจนทำการศึกษาวิจัยเพื่อนำเทคโนโลยีเหนี่ยวนำโครโมโซม 4N ไปทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน ช่วยควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลา หรือการใช้เทคโนโลยีฟีโรโมนหรือแสงสีในการควบคุมประชากรปลา เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ที่ไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนแต่ยังลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

แนวทางปฎิบัติดังกล่าวข้างต้นจะอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ จนสามารถเดินหน้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ การฟื้นฟูความหลากหลายของปลาพื้นถิ่นและสัตว์น้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

ในอนาคต แนวทางดังกล่าวจะช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลในระบบนิเวศ พร้อมคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดจนความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และคาดว่าปัญหาปลาหมอคางดำจะสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลาอันใกล้นี้

เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พีช บีเอ็ม" ยกมือไหว้พร้อมคุกเข่า ขอโทษครอบครัวผู้เสียหายต่อหน้าสื่อ
ด่วน "ดีเอสไอ" บุกรวบ "ชวนหลิง จาง" กรรมการ "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" หลังโดนหมายจับ พร้อมก๊วนคนไทย
รัฐบาลทรัมป์เผลอส่งอีเมล์กดดันฮาร์วาร์ด
รัฐบาลสหรัฐฯศึกษาหาทางปลดประธานเฟด
"พีช บีเอ็ม" หอบพวงมาลัย รอขอโทษ "ญาติลุงกระบะ" "นายกเบี้ยว"ตะโกนใส่สื่ออย่ามาเบียด
"ตร.ปอศ." รวบหนุ่มหื่น ลวงเด็ก 14 ผ่านเฟซบุ๊กทำอนาจาร หนีความผิดกบดานประเทศเมียนมา
ผบก.ภ.ปทุมฯ ยันแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา "พีช บีเอ็ม" แค่เบื้องต้น เร่งสอบสภาพรถ คำให้การลุงป้า นำพิสูจน์ฟ้องผิด
นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เจ้าของฉายา "สิงห์สนามศุภฯ" เสียชีวิตแล้วในวัย 77 ปี
"กองทัพบก" เสียใจ สูญเสีย "พ.อ.พิฆราช" นายทหารจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกู้ภัยเหตุตึกสตง.ถล่ม ตั้งแต่ 28 มี.ค.จนนาทีสุดท้าย ไม่เคยหยุดภารกิจ
อย่าหลงเชื่อ "คลิปวัดร่องขุ่นถล่ม" ว่อนโซเชียลฯ "อ.เฉลิมชัย" ลั่น AI มันร้าย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น