เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดเร็วกว่าที่คิด

กดติดตาม TOP NEWS

เกาหลีใต้เข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” หรือ ซูเปอร์-เอจด์ โซไซตี้ ( super-aged society ) อย่างเป็นทางการ เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ชาวเกาหลีใต้ 1 ใน 5 เวลานี้ คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

 

 

กระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัยของเกาหลีใต้ แถลงวานนี้ (24 ธันวาคม) ว่า เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่สองในเอเชียตามหลังญี่ปุ่น ที่เข้าสู่ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด อย่างเป็นทางการ หลังจากประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเกิน 20% ของประชาชนทั้งหมด

ตามการจำแนกของสหประชาชาติ ประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7% จะเป็น “สังคมสูงวัย” หรือ aging society หากเกิน 14% จะถือเป็น “สังคมสูงวัยเต็มขั้น” หรือ aged society และเมื่อเกิน 20% จะถือเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

เกาหลีใต้เข้าสู่ สังคมสูงวัย ในปี 2543 เป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นในปี 2560 ก่อนเป็น สังคมสูงวัยสุดยอด ในวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม เมื่อประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวน 10 ล้าน 2 แสน 4 หมื่นคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด 51 ล้าน 2 แสน 2 หมื่นคน แยกเป็นผู้หญิง 5 ล้าน 6 แสน 9 หมื่นคน คิดเป็น 22.2% เป็นผู้ชาย 4 ล้าน 5 แสน 4 หมื่นคน หรือ 17.8%

 

สัดส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในเกาหลีใต้ แตะ 10% ครั้งแรกในปี 2551 นับแต่นั้นมาก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 11.01% ในปี 2554 เป็น 12.03% ในปี 2556 , 13.02% ในปี 2558 , 14.02% ในปี 2560 พอถึงปี 2562 สัดส่วนทะลุ 15%

มาถึงปี 2567 สัดส่วนประชากรสูงวัยทะลุ 19% เมื่อต้นปี และในที่สุดก็ทะลุ 20% ก่อนสิ้นปี

จำนวนชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นสองเท่าในเวลาเพียง 16 ปี หรือจาก 4 ล้าน 9 แสน 5 หมื่นคน เป็นกว่า 10 ล้านคนในปีนี้ เดิม สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่า ประเทศจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอดในปี 2568

อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ ลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นประเทศเดียวในกลุ่ม OECD ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มี “อัตราการเจริญพันธุ์รวม” ต่ำกว่า 1.0 โดยแตะระดับนี้มาตั้งแต่ปี 2561 / อัตราเจริญพันธุ์รวม หมายถึงจำนวนบุตรโดยเฉลี่ย ที่สตรีคนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์ และเกาหลีใต้ มีอัตราที่ว่านี้ แตะ 0.7 ต่ำสุดในโลก ในไตรมาสสองของปี 2566 ยิ่งตอกย้ำระเบิดเวลาด้านโครงสร้างประชากร ของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย

หากต้องการรักษาเสถียรภาพประชากร เกาหลีใต้จะต้องมีอัตราการเกิด หรืออัตราเจริญพันธุ์ ที่ระดับ 2.1

อัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของภาครัฐ

ในปี 2565 รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมรับว่า ใช้งบไปกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นจำนวนประชากรตลอด 16 ปีก่อนหน้า แต่ก็ไร้ผล แรงจูงใจอื่น ๆ เช่น เพิ่มวันลาคลอด แจกโบนัสพิเศษ และรณรงค์ทางสังคมกระตุ้นให้ผู้ชายช่วยดูแลลูกและทำงานบ้าน ก็ยังไม่สามารถพลิกสถานการณ์ได้

ภาคธุรกิจก็วิตกเช่นกันว่า กำลังแรงงานที่หดตัวลงเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะกระทบความสามารถในการแข่งขัน บรรดากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือ แชโบล ไม่ว่า ซัมซุง แอลจี ฮุนได มอเตอร์ และ SK ต่างก็ทุ่มความพยายามเพื่อฉุดอัตราการเกิด เช่น ให้พนักงานลาคลอดได้มากขึ้น หรือเสนอให้แรงจูงใจแก่พนักงานหญิงเพื่อให้มีลูก แต่ก็ยังไร้ผล

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า วิกฤติประชากรในเอเชีย มาจากวัฒนธรรมการทำงานที่มีความต้องการสูง ค่าจ้างแรงงานหยุดนิ่ง ค่าครองชีพเพิ่ม ทัศนคติต่อการแต่งงานและความเท่าเทียมด้านเพศสภาพ เปลี่ยนแปลงไป และความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ก็เป็นอีกปัจจัย

ในยุโรป เผชิญปัญหาประชากรสูงวัยเช่นเดียวกัน แต่การรับผู้อพยพ ช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ต่างจากประเทศในเอเชียตะวันออก อย่างเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น หลีกเลี่ยงการรับผู้อพยพจำนวนมากเพื่อรับมือกับประชากรวัยแรงงานลดลง

 

ภาพ Pixabay 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น