ตอบเคลียร์ “พิพัฒน์” แจงกระทู้ถามสดปมเอกสารรับรอง ‘แรงงานต่างด้าว’ กวดขันเข้มป้องกันแย่งอาชีพสงวนคนไทย -ตรวจคัดกรองโรค

ตอบเคลียร์ “พิพัฒน์” แจงกระทู้ถามสด กรณีศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) จะขยายเวลาลงทะเบียน อำนวยความสะดวกไม่ต้องบินกลับประเทศ ให้นายจ้างมาลงทะเบียน เข้มงวดคัดเลือกบริษัทประกันภัย จัดการต่างด้าวแย่งอาชีพสงวนเพื่อคนไทยเด็ดขาด

ตอบเคลียร์ “พิพัฒน์” แจงกระทู้ถามสดปมเอกสารรับรอง ‘แรงงานต่างด้าว’ กวดขันเข้มป้องกันแย่งอาชีพสงวนคนไทย -ตรวจคัดกรองโรค

 

ข่าวที่น่าสนใจ

วันที่ 26 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบกระทู้ถามสด ของ นายสหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน ในสภาผู้แทนราษฎร ที่สอบถามกรณี การดำเนินการของศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) หลังจากที่มี มติ ครม.ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2567 มีการลงทะเบียนไปแล้วจำนวนเท่าไหร่ และนายจ้างที่อยู่ตามบ้านจะต้องทําอย่างไร ว่า ในขณะนี้มีการลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วประมาณ 500,000 คน ซึ่งในส่วนนี้ พยายามที่จะอํานวยความสะดวก โดยให้นายจ้าง ลงทะเบียนด้วยตนเองก็ได้ หรือจะให้ บมจ.เข้ามาช่วยลงทะเบียนให้ก็ได้ ซึ่งจะมีการต่อใบอนุญาตอีก 2 ปี จะครบกําหนดภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

 

“เราเชื่อว่าเมื่อถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ถ้าหากว่ายังไม่ครบ หรือยังมีผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะนายจ้างยื่นความจํานงว่าทําการให้เราให้ไม่ทัน ผมเองคงต้องนําเรื่องเข้าหารือกับกรมการจัดหางาน แล้วนําเรื่องเข้า ครม.เพื่อขยายอายุในการที่จะต่อใบอนุญาต” นายพิพัฒน์ กล่าวว่า

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การลงทะเบียนในคราวนี้เราจะอํานวยความสะดวกโดยไม่จําเป็นต้องให้ผู้ใช้แรงงานกลับไปในประเทศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นประเทศเมียนมา หรือกัมพูชาก็ดี เพราะฉะนั้นตรงนี้น่าจะมีความรวดเร็วในการดําเนินการ ซึ่งถ้าหากว่ายังไม่ทัน ทางเราจะทําการยืดอายุให้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการที่นายจ้างตามบ้านจะทําอย่างไรก็ขอให้นายจ้างลงทะเบียนผ่านอิเล็กทรอนิกส์มาได้เช่นกันว่าเรามีลูกจ้างกี่คน หากไม่สะดวกไปยื่นที่กรมการจัดหางานในแต่ละจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเตรียมความพร้อม ถึงแม้จะเป็นวันหยุดเราก็มีการสแตนด์บาย สําหรับเจ้าหน้าที่เพื่อจะรองรับ

 

นายพิพัฒน์ ชี้แจงถึงสถานพยาบาลที่มีการตรวจสอบโรคจำนวนน้อย โดยยืนยันว่า โรงพยาบาลทั้งหมด 57 แห่ง สามารถที่จะทําการทันในการตรวจเช็คร่างกาย โรงพยาบาลมีจํานวนไม่มากอย่างที่พวกเราต้องการ เพราะในแต่ละสถานที่จะออกใบรับรองแพทย์ ต้องมีห้องแลปเป็นของตัวเอง นี่คือข้อจํากัด เพราะในอดีตที่ผ่านมาทางกรมการจัดหางานได้ตรวจสอบแล้วพบว่าใบรับรองแพทย์เคยมีหลุดมาว่ามีโรคที่ประเทศไทยเราไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นในคราวนี้ เราถึงได้วางมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น และขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาตกโรคในเมียนมา มีการติดเชื้อหลายพันคน และติดเข้ามาสู่ในไทย เราถึงต้องออกมาตรการที่เข้มงวด


นายพิพัฒน์ ชี้แจงกรณีแรงงานต่างด้าว เข้ามาแย่งอาชีพสงวนของคนไทย ว่า ได้ตั้งชุดเฉพาะกิจประกอบด้วย 13 หน่วยงาน บูรณาการร่วมกัน เพื่อออกตรวจ ซึ่งตอนนี้เริ่มออกตรวจในบางสถานที่ โดยกําชับไปว่าถ้าเจอคือจะปรับ แล้วผลักดันออก และขอให้เก็บอัตลักษณ์เพื่อจะเป็นการพิสูจน์ให้ครั้งต่อไป

“ในอดีตอาจจะมีการเก็บอัตลักษณ์หรือไม่มีการเก็บอัตลักษณ์ ผมไม่ขอกล่าวถึง แต่คราวนี้ขอให้มีการเก็บอัตลักษณ์ ถ้าตรวจเจอว่าคุณถูกผลักดันกลับไปแล้วและคุณลักลอบกลับเข้ามาใหม่ แน่นอนว่าเราจะดําเนินคดีทางอาญา ซึ่งในส่วนนี้ได้แจ้งไปทางกรมการจัดหางาน ชุดเฉพาะกิจเพื่อทําการตรวจสอบและผลักดัน จับกุม แต่ถ้าเข้ามาครั้งที่สองเราจะมีโทษจําคุกประกอบเข้าไปด้วย” รมว.แรงงาน กล่าวชี้แจง

นายพิพัฒน์ ชี้แจงกรณี แรงงานต่างด้าว เข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 การรักษาพยาบาลส่วนบุคคล หรือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ทางกรมการจัดหางาน ได้วางมาตรการว่า จะต้องประกันสุขภาพ มี 2 ระยะคือ 6 เดือน และ 1 ปี เราได้กําหนดคุณสมบัติของบริษัทที่เข้ามารับทำประกัน จะใช้คุณสมบัติที่ค่อนข้างจะมีความแข็งแรง หรือเข้มข้น

รมว.แรงงาน กล่าวว่า โดยเฉพาะมีคุณสมบัติข้อที่ 9 ต้องมีทุนจดทะเบียนชําระแล้วเต็ม ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ข้อที่ 10 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวมสิ้นปี 2566 จํานวนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และข้อที่ 11 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอต่อการดํารงกองทุนตามกฎหมาย หรือค่าเรโช ไว้ไม่ต่ำกว่า 200 % ณ สิ้นปี 2566 และบริษัทประกัน ต้องไม่มีผลการขาดทุน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 ปี นี่คือเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางกรมการจัดหางานตั้งเงื่อนไขที่สูงเอาไว้ มีบริษัทผ่านคุณสมบัติเพียง 3 บริษัท คือ บริษัททิพยประกันภัย บริษัทเมืองไทยประกัน และโตเกียวมารีน ซึ่งเรายังไม่ได้ปิดกั้นสําหรับบริษัทอื่นๆ ที่ขณะนี้ยังมีทยอยยื่นคุณสมบัติตาที่ได้กําหนดไว้ หากบริษัทใดที่มีคุณสมบัติตามข้อที่ได้กล่าวมา ทั้งหมมี 13 ข้อจะได้รับการบรรจุเข้ามาเพื่อรับประกันแรงงานต่างด้าว

“ผมมีความจําเป็นว่าทําไมเราต้องตั้งเงื่อนไขที่สูงเอาไว้ เพราะเรามีประสบการณ์จากการรับประกันของโควิด 19 ที่ผ่านมา พวกเราคงเห็นอยู่ มีหลายบริษัทที่เราคิดว่ามีความแข็งแรง เป็นบริษัทใหญ่ แต่สุดท้ายแล้วก็ล้มละลาย เพราะเราไม่ได้กําหนดเรื่องของค่าเรโช เรื่องของเงินทุนจดทะเบียน เรื่องเงื่อนไขต่างๆ ทั้ง 13 ข้อ เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย จากที่ได้หารือกับทาง กปภ.เสนอแนะว่าถ้าหากกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน จะสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่เข้ามาซื้อประกัน เราต้องตั้งค่าคุณภาพที่สูงไว้ก่อน ผมเข้าใจความแออัดในการเข้าไปตรวจสุขภาพ 2 ล้านกว่าคน” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

นายพิพัฒน์ ชี้แจงถึงการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ที่มีเพียง 3 ศูนย์ใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ กรุงเทพ และระนอง เพราะ เป็นเรื่องข้อเสนอของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งเราไม่สามารถที่จะเป็นผู้กําหนดได้ ถ้าหากกําหนดได้ จะกําหนดว่าจังหวัดไหนที่มีแรงงานต่างด้าวเกินกว่า 5,000 คนขึ้นไป จะตั้งจังหวัดนั้นให้เป็นศูนย์ แต่ทางรัฐบาลเมียนมาบอกว่าไม่มีกําลังเจ้าหน้าที่มากมายขนาดนั้น

นายพิพัฒน์ ชี้แจงถึงค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในการให้รัฐบาลเมียนมา มาเก็บภาษีในไทย ว่า ไม่เถียงที่บอกว่าเขาทําไมต้องมาเก็บภาษีในไทย เรื่องนี้คณะอนุกรรมาธิการได้เชิญทางกรมสรรพากรมา ก็ไม่ได้ชี้ว่าผิดหรือถูก แต่ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะไม่ผิด ส่วนที่ว่าไม่ใช้แบบเดิม คิดว่าการใช้ในแบบรูปแบบปัจจุบัน ปีนี้เราอํานวยความสะดวกให้กับแรงงานเมียนมาที่มาทำ mou return ซึ่งแน่นอน ในขณะที่เราประกาศอยู่ ถึงแม้จะเลยระยะเวลาวันที่ 13 กุมภาพันธุ์ 2568 ไป อยู่ในช่วงของการประกาศ ส่วนเราจะยืดอายุไปอีกกี่วัน แรงงานเหล่านั้นยังไม่ถือเป็นแรงงานเถื่อนเพราะอยู่ในช่วงของการประกาศเพื่อที่จะให้มาต่อสัญญาอีก 2 ปี ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่ท่านบอกทําแบบในอดีต จะเกิดความโกลาหล

 

“แรงงาน 2 ล้านกว่าคน ท่านจะขนคนออกไปตามด่านชายแดนได้กี่ด่าน ในอดีตด่านชายแดนตามที่รัฐบาลเมียนมาบอกคือ จังหวัดระนอง และอําเภอแม่สอด จังหวัดตาก การที่จะขนคนถึง 2 ล้านกว่าคน เราจะขนอย่างไรและโดยเฉพาะยังมีประเทศกัมพูชาอีก 3-4 แสนคน พวกเราจะทําอย่างไร เพราะฉะนั้นคราวนี้กรมการจัดหางาน โดยกระทรวงแรงงาน ถึงได้อํานวยความสะดวก นายจ้างมาเป็นผู้ยื่นหรือ บลจ.มาเป็นผู้ยื่น ก่อนที่จะมายื่นลงทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อน” นายพิพัฒน์ ชี้แจง

 

นายพิพัฒน์ ยืนยันว่า จะมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่ จะไปจัดเก็บทีเดียวในศูนย์ซีไอ หรือจะกระทําอย่างไรต้องรอผลจากการประชุมของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งข้อมูลที่ท่านเอามาโชว์คิดว่ามีหลายๆ ข้อมูล ที่มันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นค่าเดินทาง ค่านู่น นี่ นั่นกว่า 20,000 บาท คิดว่าไม่ใช่ เพราะเราไม่มีค่าเดินทาง เพราะไม่จําเป็นต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง เราอํานวยความสะดวกให้ไปยื่นโดยผ่านนายจ้าง หรือ บลจ. สิ่งที่ยังตอบไม่ครบถ้วน จะไปตอบโดยส่งเอกสารมาให้ทางรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ดีเจแมน" เปิดใจ หลังได้รับอิสรภาพ กราบเท้าพ่อ-แม่ พร้อมขอเวลาปรับตัวการใช้ชีวิตนอกเรือนจำ
ผอ.สวนสัตว์ ยันชัด “วิทาลิก บูเทอริน” มอบเงิน 10 ล้านจริง สร้างบ้านใหม่ให้หมูเด้ง
“Amazing Coding By Micro bit” .. CONNEXT ED หนุน รร.บ้านหนองกระทุ่ม ชัยภูมิ เรียนรู้โค้ดดิ้ง
ตร.สอบปากคำเข้ม "เจ้าของงานเลี้ยง-ลูกชาย" ปมจ้าง "แบงค์ เลสเตอร์" 3 หมื่นให้ดื่มเหล้าเพียวจนเสียชีวิต
อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่รถนักข่าวในกาซา
เปิดภาพวงจรปิด แม่สะพายลูกวัย 4 เดือน ขี่รถจยย.ชนท้ายรถบรรทุก แม่ดับ-ลูกสาหัส
คู่หู ‘มนุษย์หิมะ’ ยักษ์ ยิ้มแย้มต้อนรับในจีน
ฝ่ายค้านเกาหลีใต้ยื่นถอดถอนรักษาการณ์ปธน.
หลายประเทศเอเชียจัดพิธีรำลึก 20 ปีสึนามิพัดถล่ม
โรงรับจำนำ กทม. ลดดอกเบี้ยพิเศษ 20% ทุกวงเงิน มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนกรุงฯ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น