ศปถ. แถลงอุบัติเหตุปีใหม่ 68 วันที่ 2 เสียชีวิตแล้ว 38 ราย “อยุธยา” เกิดเหตุสูงสุด
ข่าวที่น่าสนใจ
29 ธ.ค. 67 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันนี้ ว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 269 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 257 คน ผู้เสียชีวิต 38 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.29 ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 21.56 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.33 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.40 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.25 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 44.98 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 28.25 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 18.01 – 19.00 น. ร้อยละ 11.90 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 15.93 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,770 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,835 คน
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา และเชียงราย (จังหวัดละ 13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พังงา และหนองบัวลำภู (จังหวัดละ 3 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (27 – 28 ธันวาคม 2567) เกิดอุบัติเหตุรวม 592 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 575 คน ผู้เสียชีวิต รวม 93 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 51 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (27 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (24 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (5 ราย)
นายชาครีย์ กล่าวต่อว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทางซึ่งยังคงมีจำนวนมาก ทั้งในส่วนของรถโดยสารประจำทางและรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.67) มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมากถึง 1,100,000 เที่ยว และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างทาง โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้เน้นย้ำจังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนเพิ่มมาตรการตรวจสอบความพร้อมของคนขับรถ โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะและความพร้อมของยานพาหนะในทุกจุดที่มีการรับ-ส่งประชาชน
ส่วนกรณีเกิดอุบัติเหตุให้สืบสวนพฤติกรรมก่อนเกิดเหตุ อาทิ ขับรถต่อเนื่องกี่ชั่วโมง มีการจอดพักรถที่จุดบริการหรือไม่ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และรับประทานยาที่มีมีฤทธิ์กดประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึมก่อนหรือระหว่างการเดินทางหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในเชิงป้องกันที่สาเหตุ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็วในการขับรถอย่างเข้มข้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทั้งถนนสายหลัก สายรอง และถนนใน อบต.และหมู่บ้าน เน้นการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งจุดตัดทางรถไฟ ทางลักผ่าน ทางแยก ทางร่วม และเข้มงวดการจอดรถบนไหล่ทางที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด บูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สนธิกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงานในจุดตรวจ จุดบริการ และด่านชุมชน โดยเฉพาะเส้นทางสายรองและเส้นทางเลี่ยง ทางลัด ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในระยะนี้บางจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและอาจมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี และระนอง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยไม่ดี ศปถ. จึงประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกให้กวดขันการใช้ความเร็ว และขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการสัญจรผ่านเส้นทางที่มีฝนตก ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อให้เทศกาลปีใหม่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความปลอดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น